หน่วยที่ 2
ปัจจัยสภาพแวดล้อมต่างที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต
(Environmental Factors)
2.1 เครื่องปลูก
2.1.1 ดิน ( Soil )
แต่เดิมเราปลูกพืชลงในดิน หรือนำเอาดินมาเป็นเครื่องปลูก ดินช่วยในการพยุงลำต้น ให้อากาศ ตลอดจนให้น้ำและแร่ธาตุแก่ต้นพืช ซึ่งดินเหล่านี้มีคุณสมบัติทั้งทางฟิสิกส์และเคมี เป็นไปตามความความเหมาะสมของพืช อีกทั้งไม่มีสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยเจือปน
ปัจจุบันดินหายาก และที่มีอยู่ก็หาคุณสมบัติเป็นไปตามความต้องการ ดังแต่ก่อนไม่ บางครั้งยังมีสารที่เป็นพิษกับต้นพืชอีก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ถ้าเป็นไปได้ควรจะปรับปรุง ให้ตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด โดยเฉพาะไม้ดอกที่มีอายุสั้น ดินที่ใช้ปลูกจะต้องมีความอุดมสมบูรณ์สูง เพื่อว่าการเจริญเติบโตทางต้นของไม้ดอกเป็นไปด้วยดี ดอกที่ได้จากต้นที่สมบูรณ์เท่านั้น จึงจะมีคุณภาพที่ดีตามความต้องการของตลาด
2.1.1.1 การปรับปรุงดิน ให้มีคุณสมบัติครบถ้วน ตามความต้องการของไม้ดอกนั้น สามารถทำได้โดยใช้วัสดุต่าง ๆ ทั้งอินทรีย์วัตถุ และอนินทรีย์วัตถุ ซึ่งเรียกว่า วัสดุปรุงดิน
2.1.1.2 วัสดุปรุงดิน ควรมีคุณสมบัติดังนี้
- โปร่ง
- ไม่เน่าเปื่อยผุพังเร็วจนเกินไป
- อุ้มน้ำได้ดีพอควร
- มีปริมาณเกลือแร่ต่ำ
- ราคาถูก
- สะอาด ปราศจากโรคแมลง ตลอดจนสารพิษเจือปน
- มีความสม่ำเสมอ
- ไม่เป็นกรดหรือด่างจัด
- หาง่าย
2.1.1.3 ประเภทของวัสดุปรุงดิน
อินทรียวัตถุ
1. ปุ๋ยคอก ได้จากมูลสัตว์ต่างๆควรเป็นปุ๋ยคอกเก่าค้างปีถ้าเป็นปุ๋ยคอกสด
แม้ว่าจะมีปริมาณไนโตรเจนสูง กว่าปุ๋ยคอกเก่าแต่ถ้าใส่ปรับปรุงดินแล้วจะทำให้ต้นไม้ดอกตายได้ ปุ๋ยคอกมีประโยชน์ในการปรับปรุงคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของดินและเครื่องปลูก ตลอดจนเป็นผลทางอ้อมในการปลดปล่อยธาตุ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ให้กับต้นพืช ควรเติมปุ๋ยคอกลงไปในดินหรือเครื่องปลูกทุกครั้ง ประมาณ 20 – 25%
2. พีท ประกอบด้วยซากของพืชน้ำที่ขึ้นตามหนองบึงซึ่งทับถมอยู่ใต้ผิวน้ำ เป็นเวลานานๆจนอยู่ในสภาพผุเปื่อย พีทูเนียนิยมใช้ในหมู่ผู้ปลูกไม้ดอกในอเมริกาและ ยุโรป คือ peat moss
3. ซังข้าวโพด ฟางข้าว แกลบ ชานอ้อย เปลือกถั่ว ขุยมะพร้าว ขึ้เลื่อย ขึ้กบ และเปลือกไม้ล้วนแต่ใช้เป็นอินทรีย์วัตถุได้ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่จะต้องพิจารณาคือคาร์บอนไนโตรเจนเรโช (C/N Ratio) ซึ่งควรจะประมาณ 50 : 1 หรือต่ำกว่าถ้าสูงกว่านี้ ควรจะเติมปุ๋ยไนโตรเจนลงไปด้วยประมาณ 1% ของน้ำหนักแห้งของอินทรีย์วัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสม
4. ใบไม้ผุ ใบทองหลาง ก้ามปู หรือมะขามเทศ ในต่างประเทศได้จากใบ maple oak และ elm ใบไม้ต่างๆเหล่านี้ ส่วนมากนำมาหมักทับถมกันเป็นชั้น ๆ สลับกับดิน เติมปุ๋ยไนโตรเจน เช่น แอมโมเนียมซัลเฟต เล็กน้อย พรมน้ำให้ชื้นพอสมควรจะช่วยให้ผุเร็วขึ้น หมั่นกลับกองปุ๋ยอยู่เสมอเพื่อให้ผุได้สม่ำเสมอ หมักประมาณ 3 เดือน จึงนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่อาจมีปัญหาเรื่องไส้เดือนฝอย และเชื้อโรคควรจะฆ่าเชื้อก่อนนำไปใช้
อนินทรีย์วัตถุ ช่วยในเรื่องระบายน้ำและถ่ายเทอากาศ
1. ทราย เป็นวัสดุปรุงดินที่ดีที่สุด หาง่าย ราคาไม่แพง สะอาด เป็นทรายก่อสร้าง ขนาดไม่ละเอียดหรือใหญ่เกินไป น้ำหนักมากไม่เหมาะที่จะผสมเป็นเครื่องปลูกไม้กระถาง
2. เพอร์ไลท์ เกิดจากหินภูเขาไฟโดยเอาหินดิบเหล่านั้นมาย่อยและร่อนแล้วอบเอาน้ำที่ติดอยู่ให้ระเหยเป็นไอออกไปทำให้เม็ดหินมีลักษณะเหมือนฟองน้ำน้ำหนักเบา 1 คิวบิคฟุต หนัก 6 – 8 ปอนด์ เบากว่าทราย 16 เท่า การนำไปอบที่อุณหภูมิ 1800 F ทำให้เพอร์ไลท์ปราศจากเชื้อโรคมี pH 7.0 – 7.5 อุ้มน้ำได้เล็กน้อย
3. เวอร์บิคูไลท์ เป็นสารพวกไมก้า
4. Calcined clay เป็นวัสดุที่ได้จาก clay minerals ซึ่งถูก
นำไปเผาที่ 1300 องศาฟาเรนไฮต์ ทำให้เกิดเป็นสีขาวมีน้ำหนัก 30 – 40 ปอนด์ ต่อคิวบิคฟุต ไม่มีสารเป็นพิษต่อพืช ทนทานต่อการแตกสลาย ดูดน้ำได้ดี นิยมใช้บน golf green ในสนามกอล์ฟเป็นส่วนใหญ่ และเหมาะใช้เป็นส่วนผสมดินปลูกไม้ดอกด้วย
2.1.2 ปุ๋ย
เดิมเราปลูกไม้ดอกในดิน และในดินมีธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช 13 ชนิด และอีก 3 ธาตุ(C,H,O)พืชได้จากน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศโดยผ่านเข้าทางใบ ขณะที่ดินที่ปลูกพืช จะหาดินที่มีธาตุอาหารครบถ้วนในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องของพืชนั้น หาได้ยากยิ่งจำเป็นต้องเติมปุ๋ยเพื่อเพิ่ม 13 ธาตุลงไปในดินให้เป็นไปตามความต้องการทุกประการ ทำให้พืชโตเร็ว ต้นสมบูรณ์ ดอกผลที่ได้มีคุณภาพดี
เป้าหมายในการใส่ปุ๋ย มีดังนี้
1. เพื่อให้ได้มาซึ่งต้นพืชที่มีคุณภาพพุ่มต้น สวยกะทัดรัด
แตกกิ่งก้าน สาขามากใบมีสีเขียวสดใส มีระบบรากแข็งแรง และมั่นคงดอกดกสีสวย
2. ใช้เวลาในการผลิตสั้นลง
ปุ๋ยที่พอเหมาะพอควรกับไม้ดอก จะทำให้ทุ่น เวลาในการผลิตคือ ดอกบานเร็วขึ้น ซึ่งทุ่นเวลา ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ
2.1.2.1 ธาตุอาหารพืช ในดิน 13 ชนิด จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ
1. ธาตุอาหารหลัก พืชต้องการในปริมาณมาก บทบาทของธาตุเหล่านี้มีดังนี้
ธาตุไนโตรเจน ปกติมีอยู่ในอากาศในรูปก๊าซจำนวนมาก แต่พืชนำมาใช้ ประโยชน์ไม่ได้ ยกเว้นพืชตระกูลถั่วเท่านั้น
- ต้องอยู่ในรูปของอนุมูลสารประกอบ เช่น แอมโมเนียมไอออน (NH+)
และไนเตรด (NO) ซึ่งมาจากการสลายตัวของสารอินทรีย์วัตถุและฮิวมัสโดย
จุลินทรีย์ในดินเป็นผู้ปลดปล่อยให้ นอกนั้นได้จากการใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ของดิน
- N เป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่ในสารประกอบต่างๆเช่น โปรตีน คลอโรฟิลด์ ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นสีเขียวของต้นพืชทำ หน้าที่จับพลังงานจาก แสงแดดในการสร้างอาหารของพืช
- N สำคัญมากในการเสริมสร้างการเจริญเติบโต อย่างรวดเร็วของพืชดอกผลที่ออกมาจะมีคุณภาพดี ถ้าได้รับ N มากเกินไปจะเกิดผลเสียคือทำให้ต้นพืชอวบน้ำ โรคและแมลงเข้ารบกวนได้ง่ายทำให้การบานของดอกช้าลง ก้านดอกอ่อน ถ้าพืชขาด N จะแสดงอาการให้เห็นเด่นชัดทางใบที่อยู่ตอนล่างจะเหลือง การเจริญเติบโตช้าลงถ้าขาด N มากๆ และในช่วงเวลานานๆ อาจจะทำให้ใบพืชร่วงหล่น ต้นโกร๋น ออกดอกผลช้า
- การใส่ปุ๋ย N อาจใส่ได้ทั้งเป็นปุ๋ยรองก้นหลุม หรือใส่เสริมภายหลัง
หรือละลายน้ำรดก็ได้* N ส่วนมากละลายน้ำได้ดี สามารถเคลื่อนที่เข้าหารากพืชได้ง่าย
ธาตุฟอสฟอรัส
- ฟอสฟอรัสในดินมาจาก การสลายตัวผุพังของแร่บางชนิดในดินการสลายตัวของอินทรีย์วัตถุและฮิวมัสในดินก็ปลดปล่อย P ออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชจากการใส่ปุ๋ยคอกลงในดิน
- ธาตุ P ในดินจะเป็นประโยชน์ต่อต้นพืชได้ จะต้องอยู่ในรูปอนุมูลของสารประกอบของ P ในดินมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ละลายน้ำได้ยาก
- P ทำปฏิกิริยากับเหล็กและอลูมินั่ม กลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำได้ยาก
- การใส่ไม่ควรคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน เพราะจะทำให้ P ทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุต่างๆในดินเร็วยิ่งขึ้น
- ควรใส่เป็นจุดหรือโรยเป็นแถบลึกลงไปในดินในบริเวณรากพืช
- การเคลื่อนย้ายอนุมูลฟอสเฟตในดินช้ามากหรือแทบจะไม่เคลื่อนย้ายเลย ใส่ไว้ตรงไหนก็มักจะอยู่ตรงนั้น
- ควรใส่รองก้นหลุม
- ควรเติมปุ๋ยคอกลงในดินหรือส่วนผสมของดินปลูกไม้ดอกทุกครั้งประมาณ 1 ใน 4 หรือ 25 % ของเครื่องปลูก
- พืชมักได้ P ไม่เพียงพอกับความต้องการเสมอ
- ถ้าขาด P พืชจะมีต้นแคระแกรน ใบมีสีเขียวคล้ำ ใบล่างจะมีสีม่วงตามขอบใบ รากพืชชะงักการเจริญเติบโต
- ถ้าได้รับเพียงพอ ดินกล้าไม้ดอกจะมีระบบรากแข็งแรงแผ่กระจายในดินกว้างขวางสามารถดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดี ทำให้ต้นสมบูรณ์การออกดอกดีมีคุณภาพ
- การปลูกไม้ดอก จึงต้องมีการรองก้นหลุมปลูกหรือรองก้นกระถางด้วยปุ๋ยฟอสเฟตทุกครั้ง
ธาตุโปแตสเซี่ยม K ในดินที่พืชนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้ มีกำเนิดมาจากการสลายตัวของหินและแร่ในดินหลายชนิด
- โปแตสเซี่ยมไอออน (K+) เท่านั้นที่พืชดึงดูดเอาไปใช้ได้ ถ้า K ยังคงอยู่ในรูป ของสารประกอบ ยังไม่แตกตัวออกมาเป็นอนุมูล พืชก็ยังดึงดูดไปใช้ไม่ได้ อนุมูลโปแตสเซี่ยมในดินอาจจะอยู่ในน้ำในดินหรือถูกดูดยึดอยู่ที่ผิวของอนุภาคดินเหนียวก็ได้ ส่วนใหญ่ถูกดูดยึดอยู่ที่อนุภาคดินเหนียว
- ดินทราย จะสูญเสียของอนุมูลโปแตสเซี่ยมได้ง่ายและเร็ว
- แต่รากพืชสามารถดึงดูด K ไปใช้ได้ง่ายๆ
- การคลุกเคล้าให้เข้ากับดินก่อนปลูกและใส่ตามภายหลังก็ได้
- ถ้าจะให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ควรใส่เป็นจุดหรือเป็นแถบลึกใต้ผิวดินในบริเวณรากพืช แต่อย่าให้ใกล้รากพืชเกินไป เพราะจะทำให้ยอดและใบเหี่ยวได้
- K มีบทบาทในการสร้างอาหารและการเคลื่อนย้ายอาหารพวกแป้งและน้ำตาล ไปเลี้ยงส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ตลอดจนส่งไปเก็บไว้ที่หัวและลำต้นพืชที่ขาด K มักเหี่ยวง่าย แคระแกร็น ใบตอนล่างเหลืองและเป็นรอยไหม้ตามขอบ
- พืชที่ปลูกในดินทรายและเป็นกรดรุนแรงมักจะมีปัญหาขาดธาตุ K
2. ธาตุอาหารรอง ( Ca , Mg, S ) พืชต้องการในปริมาณมากเช่นเดียวกันพืชต้องการมากเช่นเดียวกัน แต่โดยปกติมักจะมีอยู่ในดินค่อนข้างมากพอเพียงกับความ ต้องการของพืชทั่วไป และเมื่อเราใส่ปุ๋ยสำหรับธาตุกลุ่มแรก ธาตุกลุ่มสองนี้มักจะมีติดไปด้วยไม่มากก็น้อย เช่น ซุปเปอร์ฟอสเฟต ดังนั้นปัญหาที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากการขาดธาตุในกลุ่มนี้ จึงไม่ค่อยปรากฏ
แคลเซี่ยม - จำเป็นต่อการเสริมสร้างผนังเซลล์ของต้นพืชอย่างมากส่วนมากเรามักเติมลงดินก่อนปลูก เพื่อแก้ความเป็นกรด
แมกนีเซี่ยม - เป็นส่วนประกอบของคลอโรฟิลด์ ถ้าขาดใบจะเหลืองเป็นทางเป็นจุดบนใบ
กำมะถัน - เป็นส่วนประกอบของโปรตีนพืชใช้ในรูปของอนุมูลที่เรียกว่า ซัลเฟตไอออน
3. ธาตุอาหารเสริม (แมงกานีส โบรอน โมลิบดินั่ม สังกะสี คลอรีน) พืชต้องการ
ในปริมาณน้อยมาก นิยมเรียกจุลธาตุ ละลายน้ำรดภายหลังจากปลูก
2.1.2.2 การใส่ปุ๋ยไม้ดอก
- ควรจัดโปรแกรมของการใส่ปุ๋ยไว้ให้พร้อมตั้งแต่ก่อนจะเพาะเมล็ด
- พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าจะใส่ปุ๋ยชนิดใด
- จะใส่แบบใดจึงเหมาะ
2.1.2.3 ชนิดของปุ๋ย
1. ปุ๋ยเดี่ยว คือปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักเพียงธาตุเดียว ได้แก่
- โปแสตเซี่ยมไนเตรด เป็นปุ๋ยที่มีโปแตสเซี่ยมไอออนและไนเตรดไอออน ซึ่งพืชนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่เกิดปัญหาเรื่องเกลือ
- โปแตสเซียมคลอไรด์ นั้นพืชไม่สามารถใช้คลอไรด์ไอออนได้จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องเกลือ
- แคลเซี่ยมฟอสเฟต ก็ทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าใส่ปุ๋ยเดี่ยวไม้ดอกแล้ว
ควรเติมซูเปอร์ฟอสเฟตลงไปเป็นปุ๋ยรองพื้นก่อน แล้วผสมแอมโมเนียมไนเตรด ( 33-0-0 ) และ โปแตสเซี่ยมไนเตรด ( 13-0-44 ) ในอัตรา 1 : 1
2. ปุ๋ยผสมชนิดเม็ด ทางบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยเดี่ยว มักจำทำปุ๋ยผสมชนิดเม็ดสูตรต่างๆขึ้น เช่น 15-30-15 หรือ16-16-16 หรือ 21-21-21 เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้ที่ไม่สะดวกที่จะใช้ปุ๋ยเดี่ยวหรือไม่ทราบว่าจะใช้ปุ๋ยเดี่ยวอะไรบ้างกับพืชบริษัทจึงทำเป็นปุ๋ยผสมชนิดเม็ด และแนะนำไว้เลยว่าใช้สำหรับพืชอะไรบ้าง เช่น 15-31-15 และ 21-21-21 เหมาะสำหรับไม้ดอกทั่วๆไปแทบทุกชนิด
3. ปุ๋ยผสมละลายน้ำ หมายถึงปุ๋ยผสมที่มี%การละลายน้ำสูงมาก ใช้ผสมน้ำรดไปบนต้นพืชตามโปรแกรมที่จัดไว้ อาจจะเป็นสัปดาห์ละครั้งหรือบ่อยกว่านั้น
4. ปุ๋ยละลายช้า ส่วนมากจะค่อยๆ ละลายแร่ธาตุอาหารของพืชออกมาทีละน้อยๆและหมดขึ้นไปภาย 3-4 เดือน หรือนานกว่านี้ใส่ผสมลงไปในดินผสมหลังจากการอบฆ่าเชื้อโรคในดิน อัตราการใส่ปุ๋ยชนิดนี้จึงสูงกว่าปุ๋ยละลายน้ำ มีชื่อทางการค้าหลายอย่างเช่น ออสโมโคต (Osmocote) และแม็ค-แอมป์ ( Mag Amp )
2.1.2.4 วิธีการใส่ปุ๋ย ( ความยาว 39.5 วินาที )
2.1.3 สารควบคุมการเจริญเติบโต
สารควบคุมการเจริญเติบโต หมายถึงสารพวกอินทรีย์ ที่ไม่ใช่ธาตุอาหาร และในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเสริมสร้าง ยับยั้งหรือเปลี่ยนแปลงขบวนการทางสรีระวิทยาบางอย่างของพืชได้
1. สารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรืออาจจะเรียกว่าฮอร์โมนพืช ได้แก่สารที่พืชสร้างขึ้นได้เองในปริมาณน้อย สารเหล่านี้สามารถเคลื่อนย้ายจากเนื้อเยื่อที่สังเคราะห์นั้น ไปมีผลในทางควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่ออื่นในภายในต้นได้
2. สารที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น คือสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เมื่อนำเอาสารเหล่านี้ไปใช้กับพืช พืชจะตอบสนองต่อสารนี้ เหมือนกับที่พืชได้รับจากสารที่ตามธรรมชาติ
2.1.3.1 กลุ่มของสารควบคุมการเจริญเติบโตที่เกี่ยวข้องกับไม้ดอก
1. สารเร่งการเจริญ ได้แก่
ออกซิน (auxins) เป็นสารกระตุ้น การเจริญเติบโตของพืช ทำให้เกิดการแบ่งตัวและยืดของเซลล์ ในส่วนที่เป็นต้นของพืช ออกซินบางตัวเกิดขึ้นเองในส่วนที่เป็นลำต้นของพืช ซึ่งมีคุณสมบัติดังนี้
- ทำให้เกิดการแบ่งตัวและยืดตัวของเซล
- ช่วยในการติดผล , ช่วยกระตุ้นการเกิดราก
- ยับยั้งการเกิด abscission layer
- ยับยั้งการเจริญของตาข้างในวงการไม้ดอกใช้ในการปักชำ ใช้ในการยับยั้งการเจริญของตาข้างในไม้ดอกเช่น เบญจมาศ
จิบเบอเรลิน (gibberellin) สารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติทุกตัวที่มี gibberellin อยู่ในโครงสร้างและมีคุณสมบัติในทางกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้นั้น เรียกรวมว่า จิบเบเรลิน ซึ่งมีคุณสมบัติหลายประการคือ
- ในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช
- ทำให้ไม้ดอกพันธุ์แคระมีต้นสูงขึ้น
- ทำให้การพักตัวของไม้ดอกบางชนิดสิ้นสุดลง
- ทำให้ไม้ดอกที่ต้องการวันยาวสามารถออกดอกในสภาพวันสั้นได้
- ช่วยเร่งการบานของดอกให้เร็วขึ้น
2. สารชะลอการเจริญเติบโต ทำให้ไม้ดอกเตี้ยลงแต่มีการเจริญเติบโต ความสมบูรณ์ของต้นและดอกขนาดและคุณภาพทุกประการ นิยมใช้ในไม้ดอกชนิดต้นสูง ดอกใหญ่เพื่อช่วยให้ไม้ดอกนั้นๆมีพุ่มต้นแจ้ถ้าใช้กับไม้เนื้อแข็งนอกจากจะทำให้การเจริญเติบโตช้าลงแล้วยังช่วยกระตุ้นให้เกิดตาดอกเร็วขึ้นด้วย ได้แก่สาร มาลีอิด ไฮดราไซด์ , Amo, ฟอสฟอน, ไซโคเซล, บีไนน์, เอเรสท์ใช้พ่นทางใบหรือลดบนดินตามวิธีการใช้ที่กำหนดไว้
2.1.4 แสงสว่าง
มีบทบาทสำคัญในการเจริญเติบโตของต้นพืช นับตั้งแต่การงอก การสังเคราะห์แสง การสร้างฮอร์โมนในพืช การสร้างเม็ดสี ตลอดจนการออกดอกออกผลและอื่นๆที่มาของแสงสว่างอาจจำแนกได้ 2 ทาง คือ
- แสงจากดวงอาทิตย์
- แสงที่มนุษย์สร้างขึ้น
แสงสว่างทั้ง 2 ชนิดซึ่งมีความแตกต่างกัน ในเรื่องความเข้มข้นของแสง ช่วงแสง และคุณภาพ ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ย่อมมีอิทธิพลหรือมีบทบาทต่อต้นพืชแตกต่างกันไปดังจะได้อธิบายต่อไปนี้
2.1.4.1 ความเข้มของแสง
สามารถวัดได้ด้วยเครื่องมือวัดแสงที่มีขายอยู่ทั่วไปความเข้มข้นของแสงแตกต่างกันไปตามฤดูกาลต่างๆในรอบปีเช่นแสงในฤดูร้อนและหนาวจะมีความเข้มข้นมากกว่าแสงในฤดูฝนในที่ๆแสงอาทิตย์ส่องไม่ถึงหรือส่องถึง แต่มีปริมาณความเข้มข้นของแสงไม่พอต่อ-ความต้องการของพืชหลอดไฟธรรมดาและหลอดไฟเรืองแสงจะช่วยให้แสงสว่างแทนแสงอาทิตย์ได้
- หลอดไฟธรรมดา ให้ทั้งแสงสว่างและความร้อน ซึ่งความร้อนที่มากเกินไปอาจจะเป็นอันตรายต่อต้นพืชได้ จึงควรติดตั้งดวงไฟให้สูงจากต้นพืชพอสมควร นอกจากนี้อาจทำให้พืชบางชนิด มีลักษณะเก้งก้าง ผิดปกติไปบ้าง
- หลอดเรืองแสง ใช้แทนแสงอาทิตย์ได้ดีกว่าหลอดไฟธรรมดา ผู้ปลูกไม้ดอกนิยมใช้หลอดเรืองแสงแทนในการปลูกไม้ดอกภายในบ้านเรือนบางชนิด เช่น กล็อกซิเนีย อัฟริกันไวโอเล็ต อิปิเซีย ตลอดจนไม้ดอกบางชนิดซึ่งมีความต้องการความเข้มข้นของแสงไม่มากนัก
2.1.4.2 ช่วงความยาวของแสง
มีผลต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกมาก ไม้ดอกบางชนิดต้องการ ช่วงแสงในเวลากลางวันสั้นจึงจะเกิดดอก เช่น เบญจมาศ ต้องการแสงในเวลากลางวัน ไม่เกิน 13 ชม.ครึ่ง ถ้าแสงเกินจะไม่ออกดอก
- การทำให้เกิดวัน วิธีที่นิยมคือใช้ผ้าซาตินอย่างหนา สีดำ ขนาด 64 X 104 mesh คลุมแปลงปลูกในลักษณะเหมือนกางมุ้ง โดยเริ่มคลุมผ้าดำตั้งแต่ 5 โมงเย็น เปิดผ้าดำ 8 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น ช่วงแสงไม่เกน 9 ชม. เป็นการบังคับให้เบญจมาศออกดอก การคลุมผ้าดำอาจทำติดต่อกันไม่ได้ตลอด 7 วัน ในหนึ่งสัปดาห์ อาจจะหยุดคลุมได้บ้าง
- การทำให้เกิดวันยาว ส่วนมากใช้หลอดเรืองแสง หรือหลอดไฟธรรมดา ถ้าเป็นหลอดธรรมดา 60 แรงเทียน ควรติดสูงจากต้นพืชประมาณ 2 ฟุต ระยะห่างระหว่างดวงไฟ 4 ฟุต ถ้าเป็นหลอดไฟ 100 แรงเทียน ควรติดเหนือต้นพืช 3 ฟุต ระยะห่างดวงไฟ 6 ฟุต
2.1.4.3 คุณภาพของแสง
คุณภาพของคลื่นแสงมีผลต่อต้นพืชแตกต่างกันไปตามแหล่งของแสง เช่น แสงจากหลอด incandescent มีคลื่นแสงสีแดงมากกว่า และให้ความร้อนมากกว่าหลอด fluorescent แสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านกระจกส่วนที่เป็นแสง ultraviolet จะไม่สามารถผ่านออกมาได้ แต่แสงแดดผ่านได้สบาย
2.1.4.4 อิทธิพลโดยทั่วๆไปของแสงที่มีความเข้มข้นต่างๆกัน
- การสังเคราะห์แสง ถ้าความเข้มข้นของแสงมากขึ้นโดยปกติแล้ว จะทำให้พืชมีการสังเคราะห์แสงเพิ่มขึ้นด้วยจึงควรเพิ่มความเข้มข้นของแสงให้มากที่สุดเท่าที่ จะเป็นไปได้จะช่วยให้ไม้ดอกมีการสูงเคราะห์แสงเพิ่มขึ้นด้วยไม้ดอกแต่ละชนิดต้องการความเข้มข้นของแสงแตกต่างกันไป
- การใส่ปุ๋ย ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของแสงอันเนื่องมาจาก photosynthesis นั่นเอง ถ้าแสงน้อยปุ๋ยที่ใส่ไปจะสูญเปล่า แต่ถ้าแสงมากการใส่ปุ๋ยบ่อยๆ จึงได้ประโยชน์มากกว่าในการสร้าง amino , acid และ protein แต่ถ้าความเข้มข้นของแสงมากเกินไป chlorophyll ถูกทำลายถ้า
- อาการใบไหม้ ใบของใบไม้บางชนิดจะแสดงอาการใบไหม้ กลีบดอกไหม้ เช่น ดอกไฮเเดนเยีย และดอกเจอแรนเนีย
- การคายน้ำมากเกินไป ทำให้พืชเหี่ยวและอาจเฉาตายในที่สุด
- ก้านดอกสั้น ไม่ยาวเท่าที่ควรเช่น กุหลาบ เยอบีร่า คาร์เนชั่น และ แกล็นดิโอลัส การพรางแสงลงบ้าง จะช่วยให้ก้านดอกยาวขึ้น
- การโค้งงอของก้านดอก เนื่องมาจากการแต่ละด้านได้รับแสงไม่เท่ากัน
- สีของดอกไม้บางชนิดซีดลงได้ เนื่องจากเม็ดสีของกลีบดอกถูกทำลาย เช่นเบญจมาศสีต่างๆ นอกเหนือไปจากสีขาวและเหลือง
เมื่อเป็นเช่นนี้จะเห็นได้ว่าความเข้มข้นของแสงมากไปหรือน้อยเกินไป ย่อมมีอิทธิพลต่อไม้ดอกมาก การจัดความเข้มข้นของแสงให้เป็นไปตามความต้องการของไม้ดอกแต่ละชนิด ย่อมเป็นผลดีต่อผู้ปลูกและต้นไม้ดอกเอง
การลดความเข้มข้นของแสง ด้วยการพรางแสงโดยใช้วัสดุต่างๆ ที่หาได้ง่ายและราคาถูก เช่นขี้เลน โคลนหรือปูน ทาด้านในของหลังคากระจก เป็นทางหนึ่งที่ช่วยได้มาก หรือจะพรางแสงเป็นการถาวรควรใช้สีผสมน้ำ 1 : 8 ถึง 10 พ่นไปบนกระจก ซึ่งล้างออกภายหลังได้ นอกจากนี้อาจใช้ผ้าและตาข่ายไนล่อน ซึ่งจะช่วยพรางแสงได้ประมาณ 10-15 % ส่วนผ้า muslin สีต่างๆจะพรางแสงได้ประมาณ 50 % ซาแรนชนิดต่างๆ จะพรางแสงได้มากน้อยต่างกัน ตามความถี่ห่างของตา
การเพิ่มความเข้มข้น ในต่างประเทศในฤดูหนาว ความเข้มข้นของแสงจะเหลือเพียง 300-500 ฟุต-แคลเดิล ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของไม้ดอกหลายชนิด ใช้วิธีเพิ่มความเข้มข้นของแสงโดยใช้แสงไฟฟ้าจากหลอดไฟเรืองแสงขนาด 40-75 วัตต์ ติดตั้งเหนือต้นพืชประมาณ 6-9 นิ้ว แต่ถ้าเป็นการค้าเขาใช้หลอดไฟที่ทำขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
2.1.5 อุณหภูมิ
เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช และคุณภาพของไม้ดอกตลอดจนปริมาณของดอกด้วย เช่นกุหลาบถ้าปลูกในที่ๆสามารถปรับอุณหภูมิกลางคืนประมาณ 60 องศาฟาเรนไฮต์ จะทำให้จำนวน ขนาด ความแข็งแรงของก้านและสีสันของดอกดีที่สุด ถ้าอุณหภูมิกลางคืนสูงกว่านี้จำนวนดอกจะเพิ่มขึ้นขนาดดอกเล็กลง สีดอกจางลงและกลีบดอกบาง อีกทั้งก้านดอกอ่อนอีกด้วย ไม้ดอกอื่นๆก็เช่นเดียวกัน และอุณหภูมิที่พอเหมาะของไม้ดอกแต่ละชนิดย่อมแตกต่างกันออกไป
2.1.5.1 อุณหภูมิกลางคืนและกลางวัน
- ส่วนมากอุณหภูมิกลางคืนจะมีบทบาทต่อไม้ดอกมากกว่าอุณหภูมิกลางวัน โดยทั่วไปแล้วอุณหภูมิที่กล่าวถึงส่วนมากมักจะหมายถึงอุณหภูมิกลางคืนเป็นส่วนใหญ่
- บทบาทที่สำคัญที่สุดของอุณหภูมิกลางคืน คือกระตุ้นให้เกิดตาดอกของไม้ดอกบางชนิด ส่วนอุณหภูมิกลางวันนั้นไม่จำเป็นมากนัก
- แต่ถ้าจะให้ดีแล้ว ถ้าสามารถปรับอุณหภูมิได้ควรจะปรับอุณหภูมิกลางวันสูงกว่าอุณหภูมิกลางคืนประมาณ 5 – 15 องศาฟาเรนไฮต์
- อุณหภูมิเพิ่มขึ้นย่อมเป็นเหตุให้การหายใจของพืชมากขึ้น นั่นหมายถึงการใช้อาหารของพืชมากขึ้นทำให้การเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร
- การลดอุณหภูมิกลางคืนในช่วงท้ายๆ ของการผลิตไม้ดอก (ก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อส่ง ตลาด) จะช่วยให้สีของดอกเข้มและสดใส และทำให้กลีบดอกหนาขึ้นอีกด้วย
- อุณหภูมิในดิน มีผลต่อการดูดน้ำและอาหารมาก ถ้าอุณหภูมิในดินต่ำจะทำให้ขบวนการ absorption ลดลง ต้นพืชจะเหี่ยว นอกจากนั้นแล้วการเจริญของจุลินทรีย์จะลดลงด้วย เป็นผลให้อินทรีย์วัตถุในดินสลายตัวช้าลง ส่วนในฤดูร้อนอุณหภูมิของดินที่สูงเกินไปก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน จึงต้องลดอุณหภูมิในดินลงโดยการคลุมฟางข้าว เปลือกถั่ว และแกลบเป็นต้น
- การเกิดตาดอกของไม้ดอกต้องการอุณหภูมิต่างกันจะเห็นได้ว่าอุณหภูมิในตอนกลางคืน มีบทบาทต่อการเจริญเติบโต ตลอดจนการบานของไม้ดอก อีกทั้งคุณภาพของไม้ดอก ซึ่งอุณหภูมิกลางคืนควรจะเย็นพอสมควร จึงจะปลูกไม้ดอกได้ผลดีจะสังเกตได้ว่าการปลูกไม้ดอกส่วนใหญ่ จะปลูกได้ดีที่สุดในฤดูหนาวโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร
2.1.6 น้ำและการให้น้ำ
2.1.6.1 ความสำคัญของน้ำ มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต การเจริญเติบโตของไม้ดอกมาก เช่น
1. ช่วยละลายเกลือแร่ต่างๆในดิน ให้อยู่ในรูปสารละลายที่รากพืชดูดเอาไปใช้ได้
2. เป็นวัตถุดิบให้พืชปรุงอาหารได้
แสงสว่าง
( 6 CO2 + 6 H2O -------------------------> C6H12O6 + 6O2 )
คลอโรฟิลล์
2.1.7 ปัญหา
เมื่อไม้ดอกมีอาการผิดปกติ มีอาการเหี่ยวเฉาของต้น ยอดและใบเหลือง ขอบใบไหม้ ต้นไม้แคระแกรน ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ควรพิจารณาถึงสาเหตุ โดยตรวจตราลักษณะอาการที่พืชแสดงออกให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ซึ่งอาจมีสาเหตุหลายๆประการควรพิจารณาสิ่งต่างๆเหล่านี้เสียก่อนคือ
2.1.7.1 ดินที่ใช้ปลูก
- ตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์ ?
- อินทรีย์วัตถุเพียงพอไหม ?
- มีธาตุอาหารของพืชเพียงพอหรือไม่
- การใส่ปุ๋ยเพิ่มอัตรา ? ถูกวิธี ?
- ดินเป็นกรดด่างจัดระดับใด พืชชอบหรือไม่ ?
2.1.7.2 ความชื้นในดิน
- มากเกินไปดินขาดออกซิเจน ใบจะค่อยๆเหลืองต้นเหี่ยว
- ดินแห้งแตกระแหงขาดน้ำติดต่อกันเป็นระยะนานๆต้นไม้จะเหี่ยว
- การรดน้ำต้องให้น้ำซึมถึงบริเวณรากพืชไม่ใช่เปียกบนผิวดินเท่นั้น
- ปริมาณน้ำในดินควรจะพอเพียงและพอเหมาะกับความต้องการของพืช
2.1.7.3 แสงแดด จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตมาก พืชบางชนิดต้องการแสงยาวนานในช่วงเวลากลางวัน
- ไม้ดอกส่วนใหญ่ต้องการแสงแดดจัดและนานติดต่อกัน ไม่ต่ำกว่า 6 ชม. มิฉะนั้นจะเฝือใบและดอกน้อย
- บางชนิดแสงแดดจัดไปก็ต้องพรางแสงเพราะอาจทำให้กลีบดอกไหม้หรือสีซีด
2.1.7.4 อุณหภูมิและอากาศ เหมาะกับพืชที่ปลูกหรือไม่ไม้ดอกบางชนิดต้องการอากาศหนาวเย็น
2.1.7.5 ลม ไม้ดอกใบกว้างมักได้รับอันตรายจากลมแรงมากๆ อาจทำให้เหี่ยวเฉาการระเหยน้ำทางใบมากเกินไป ต้นโยก รากคอนแคลน
2.1.7.6 สารเคมี ได้แก่ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อโรค ตลอดจนยาฆ่าวัชพืชทั้งหลายถ้าใช้เกินอัตราที่กำหนดไว้จะเกิดอันตราย แก่ใบและต้นของพืชได้ และไม่ควรฉีดพ่นในขณะที่อุณหภูมิสูงเกิน 85 องศาฟาเรนไฮต์ เพราะจะเป็นอันตรายคือใบไหม้ได้
2.1.7.7 แมลง มีหลายชนิด ทั้งที่เห็นและไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทำอันตรายพืช โดยกัดกินใบ กัดโคนต้นกล้าดูดน้ำเลี้ยงใบและดอก การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยศึกษาวิถึงชนิดของแมลง วิธีการทำลาย ตลอดจนอุปนิสัยวงจรชีวิต และจุดอ่อนต่างๆของแมลงให้ละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน จึงสามารถหาทางทำลายที่ถูกวิธีและได้ผลดีที่สุดโดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงเลยก็ได้
2.1.7.8 โรคพืช มักเกิดขึ้นกับต้นไม้ทุกชนิด สาเหตุมีหลายอย่าง อาจเกิดจากตัวเชื้อโรคเองหรือเกิดจากพาหะต่างๆ บางครั้งเกิดจากภาวะอากาศวิปริตหรือแปรปรวน โรคที่ปรากฏอาการให้เห็นมักไม่เป็นอันตรายนัก เพราะมักแก้ไขได้ทันท่วงที โรคบางชนิดเกิดขึ้นกับพืชแล้ว ต้นไม้ไม่แสดงอาการให้เห็น หรือบางทีโรคเข้าทำลายภายในส่วนต่างๆของพืชที่เรา ไม่สามารถมองเห็นซึ่งกว่าจะรู้ก็เกินป้องกัน ฉะนั้นการป้องกันโรคเหล่านี้ ควรจะมีโปรแกรมฉีดพ่นสารเคมีไว้ล่วงหน้า มากกว่าที่จะรักษาเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้ว โดยเฉพาะกับไม้ดอก จึงควรมีโปรแกรมการฉีดพ่นยากันราล่วงหน้าเสมอ และอาจจะต้องฉีดพ่นในช่วงถี่เป็นพิเศษถ้าอยู่ในฤดูกาลที่โรคนั้นกำลังระบาด