หน่วยที่ 3
การขยายพันธุ์ไม้ประดับ

           การขยายพันธุ์พืช ( Plant Propagation ) หมายถึง การเพิ่มจำนวนต้นพืชให้มีปริมาณมากขึ้น โดยคงไว้ซึ่งคุณสมบัติ และคุณภาพของผลผลิตดีเท่าเดิม หรือดีขึ้นกว่าเดิม
ความสำคัญของการขยายพันธุ์พืช
          การขยายพันธุ์พืช นอกจากจะเป็นวิธีการที่ใช้เพิ่มจำนวนต้นพืชทุกชนิดแล้ว ยังรวมไปถึงการควบคุมการผลิตต้นพืชที่มีลักษณะดีให้คงพันธุ์ดี ( Perpetuate ) อย่างเดิมอีกด้วย ดังนั้นการขยายพันธุ์พืช จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งสำหรับการประกอบอาชีพกสิกรรมของกสิกรทั่วไป ตลอดจนบุคคลในสาขาอาชีพอื่น ๆ ที่สนใจการปลูกพืชเป็นอาชีพรองหรือเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ด้วยการหาความสุข ความเพลิดเพลินกับการพืชผักสวนครัว ไม้ประดับ เพื่อตกแต่งอาคารบ้านเรือน
          การขยายพันธุ์พืชมีความสำคัญต่อการปลูกพืชทุกชนิด ทุกประเภท ทั้งพืชไร่ และพืชสวน รวมไปถึงการปรับปรุงพันธุ์และการซ่อมแซมต้นพืชด้วย
การขยายพันธุ์พืชแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
     1. การขยายพันธุ์พืชโดยอาศัยเพศ คือ การขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด
     2. การขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ คือ การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของพืชมาใช้ แบ่งออกเป็น 6 วิธี ได้แก่ การตัดชำ การตอนกิ่ง การติดตาต่อกิ่งการแบ่งและการแยก ส่วนของพืชที่ขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ การขยายพันธุ์ โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

3.1 การขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศ
          การขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศ หมายถึง การขยายพันธุ์ที่เกิดจาการผสมเกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียและเกิดเมล็ดขึ้น เช่น โกสน บอนสี หมากผู้หมากเมีย ปาล์ม ฯลฯ

3.1.1 การเพาะเมล็ด
          การเพาะเมล็ดเป็นการทำให้เมล็ดงอกเป็นต้นกล้าการที่เมล็ดจะงอกได้นั้นจะต้องมีน้ำและอากาศผ่านเข้าไปในเมล็ดได้ เมล็ดพ้นระยะการพักตัวนอกจากนี้เมล็ด-พืชบางชนิดยังต้องการแสงในการงอก บางชนิดถ้าได้รับแสงจะไม่งอกแต่ส่วนมากแสงจะไม่มีผลต่อการงอกเท่าใดนัก การขยายพันธุ์พืชวิธีนี้มีความสำคัญต่อการผลิตไม้ประดับล้มลุกและไม้ประดับยืนต้นบางชนิด โดยเฉพาะเมื่อต้องการลูกผสมพันธุ์ใหม่ เช่น โกสน บอนสี และหมากผู้หมากเมีย และเมื่อต้องการต้นพืช ในปริมาณมาก ๆ หรือให้ต้นใหม่มีรูปทรงสวยงามเหมือนธรรมชาติ เช่น ไทร ไม้ประดับตระกูลปาล์ม

     3.1.1.1 คุณสมบัติของเมล็ดพันธุ์ที่ด
          1. ปราศจากโรคและแมลงเข้าทำลาย
          2. สะอาด ปราศจากสิ่งเจือปนต่างๆ เช่น หิน กรวด ทราย
          3. มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงและให้ต้นกล้าที่สมบูรณ์แข็งแรง
          4. เมื่อนำไปปลูกแล้วได้ผลผลิตตรงตามพันธุ์เดิมไม่กลายพันธุ์

     3.1.1.2 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องการงอกของเมล็ด
          1. ความชื้นหรือน้ำ ช่วยทำให้เปลือกหุ้มเมล็ดอ่อนตัว เมล็ดสามารถงอกออกมาเป็นต้นกล้าได้
          2. อุณหภูมิ อุณหภูมิที่เหมาะสมเป็นตัวกระตุ้นให้เมล็ดดูดน้ำเข้าไปในเมล็ด มากขึ้นพืชเมืองร้อนและพืชเมืองหนาวต้องการอุณหภูมิในการงอกไม่เท่ากัน
          3. แสงสว่าง มีความจำเป็นต่อการงอกของเมล็ดพืชบางชนิดเพราะบางชนิดสามารถงอกได้โดยไม่มีแสงสว่าง
          4. ความสมบูรณ์ของเมล็ด เมล็ดพืชที่จะงอกงามหรือไม่นั้น ความสมบูรณ์ของเมล็ดเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง และเมล็ดจะต้องผ่านระยะพักตัวแล้ว

     3.1.1.3 ระยะพักตัวของเมล็ด หรือ  Seed Dormancy
          ระยะพักตัวของเมล็ด หมายถึง การที่เมล็ดพืชไม่สามารถจะงอกได้ แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมซึ่งเมล็ดนั้นยังมีความสามารถในการงอกอยู่
          การฟักตัวของเมล็ดอาจมีสาเหตุมาจากสภาพภายในเมล็ดถ้าเมล็ดอยู่ในระยะฟักตัวก็ต้องใช้เทคนิคพิเศษช่วยให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น เช่น การถู ฝน เจาะรู หรือกะเทาะเปลือกนอกออก การแช่น้ำ การลวกน้ำร้อน และการแช่เมล็ดในสารเคมีกรดด่างหลังจากนั้นจึงนำมาเพาะด้วยวิธีธรรมดา
          ส่วนไม้ประดับตระกูลปาล์ม เช่น หมากแดง หมากนวล หมากเหลือง จั๋ง เมล็ดมักมีการฟักตัวอยู่ระยะหนึ่งเพื่อรอให้ใบเลี้ยงที่เรียกว่า จาว เจริญขึ้นมาก่อนจึงจะงอกได้ ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 1 เดือน หากนำเมล็ดที่สุกแก่มาเพาะทันทีมักไม่ได้ผล จึงนิยมทำลายระยะฟักตัวด้วยการนำไปกองสลับกับทรายชื้นเป็นชั้นๆไว้ระยะหนึ่ง จากนั้นจึงนำไปเพาะแบบธรรมดา หรืออาจใช้กาบมะพร้าวชุบน้ำให้อิ่มตัว แล้วทุบให้แบนเป็นแผ่นวางบนถุงพลาสติก แล้ววางเมล็ดปาล์มลงบนกาบมะพร้าวทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ ต้นอ่อนจะโผล่ออกมานอกเมล็ด จึงค่อยนำไปเพาะในกระบะเพาะต่อไป

     3.1.1.4 ดินหรือวัสดุที่ใช้ในการเพาะเมล็ด
          ดินหรือวัสดุเพาะควรโปร่ง ระบายน้ำได้ดี เก็บความชื้นได้ดี ไม่เป็นกรดหรือด่างจนเกินไป อาจใช้ทรายผสมขุยมะพร้าว ถ่านแกลบ หรือปุ๋ยคอก หรือจะใช้ดินร่วนทั่วไปก็ได้ ถ้าเป็นเมล็ดไม้ประดับที่มีขนาดเล็กมักใช้ดิน 1 ส่วน ทราย 1 ส่วน ปุ๋ยคอกเก่าๆ 1 ส่วน และขี้เถ้าแกลบ 1ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากันดี หรืออาจใช้ทราย 1 ส่วนผสมกับขุยมะพร้าว 1 ส่วนก็ใช้ได้ดีเช่นกัน

     3.1.1.5 การเพาะเมล็ดก่อนการย้ายปลูก
          เมื่อต้องการขยายพันธุ์พืชไว้ไม่ให้สูญพันธ์ ซึ่งนิยมใช้กับไม้ดอกไม้ประดับ ผักและไม้ผลบางชนิด โดยมีวิธีปฏิบัติ 2 ลักษณะ คือ
          1. การเพาะเมล็ดในภาชนะ เช่น ถุงพลาสติก กระบะเพาะ กระถาง ตะกร้า หรือภาชนะอื่นๆวิธีนี้เหมาะสำหรับพืชที่มีเมล็ดขนาดเล็ก ราคาแพง การปฏิบัติดูแลรักษามาก การเพาะวิธีนี้สามารถเคลื่อนย้ายไปดูแลอย่างใกล้ชิดได้ วัสดุที่ใช้เพาะควรมีส่วนผสมระหว่างดินร่วน ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักในอัตราส่วน 1 : 1 : 1 ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันและใส่ในภาชนะที่จะเพาะรดน้ำให้ชุ่ม แล้ววางเมล็ดบนวัสดุรดน้ำอีกครั้ง จากนั้นนำภาชนะเพาะไปวางในที่ที่มีแสง ดูแลให้ความชื้นสม่ำเสมอ
          2. การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะ ขนาดของแปลงเพาะที่นิยมที่สุด คือ 1 - 5 เมตรโดยวัสดุที่ใช้เหมือนกับการเพาะในภาชนะวิธีนี้สามารถเพาะเมล็ดได้จำนวนมาก

     3.1.1.6 วิธีการเพาะเมล็ด ( ความยาว 2.10 นาที )

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

          ถ้าเป็นเมล็ดไม้ประดับขนาดเล็กนิยมเพาะใส่กระบะไม้ หรือกระบะพลาสติกโดยใส่วัสดุเพาะในกระบะเพาะให้สูงขึ้นมา 3 ใน 4 ของความสูงของขอบกระบะวิธีการเพาะ อาจโรยเมล็ดเป็นแถว หรือหว่านทั่วกระบะก็ได้ ถ้าเพาะแบบโรยเป็นแถวให้ใช้ไม้หรือปลายปากกาขีดเป็นร่องตื้น ๆ โรยเมล็ดที่คลุกยาป้องกันเชื้อราและแมลงแล้วลงในร่องอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้เมล็ดรวมกันเป็นกระจุก กลบร่องด้วยดินเพาะบางๆ ถ้าเป็นการเพาะแบบหว่านก็จะต้องหว่านให้เมล็กระจายตัวอย่างสม่ำเสมอไม่รวมกองกันที่จุดใดจุดหนึ่งเสร็จแล้วใช้ดินเพาะโรยกลบหน้าบาง ๆ หากเมล็ดมีขนาดเล็กมาก ควรคลุกเมล็ดกับทรายละเอียด 1 - 2 กำมือ จึงค่อยโรยในร่องหรือหว่านลงบนผิวหน้าดินที่เตรียมไว้ในกระบะเพาะ ใช้ฟางหรือหญ้าแห้งสับเป็นท่อนๆ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ปิดคลุมผิวหน้าดิน เพื่อรักษาความชื้นและไม่ให้เมล็ดถูกน้ำพัดพาไปกองรวมกัน จากนั้นรดน้ำด้วยฝักบัวฝอยละเอียดเบาๆ หรืออาจใช้หัวสเปรย์พ่นน้ำแบบฝอยละเอียดได้ยิ่งดี นำกระบะเพาะเมล็ดวางไว้ที่ร่มรำไรในระยะนี้ถ้าใช้แผ่นกระจกปิดปากกระบะเพาะจะทำให้เมล็ดงอกได้ดีสม่ำเสมอยิ่งขึ้น
          ในกรณีเมล็ดที่ใช้เพาะมีขนาดใหญ่ก็ใช้วิธีการเหมือนกัน เพียงแต่ใช้กระบะเพาะที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเพาะในกระบะพ่นหมอก และให้เมล็ดจมอยู่ในวัสดุเพาะประมาณ 2 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางเมล็ด
          เมล็ดที่เพาะไว้งอกช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับชนิดของพืช พืชบางชนิดอาจงอกภายในระยะเวลา 1 - 2 วัน บางชนิดก็ต้องใช้เวลานานหลายเดือน เมื่อเมล็ดงอกต้องเอากระดาษหนังสือพิมพ์ที่คลุมทับออก และต้องหมั่นสังเกตต้นกล้าอยู่เสมอ ถ้าเห็นต้นกล้าเหี่ยวเนื่องจากวัสดุเพาะแห้งก็ต้องรดน้ำให้ชุ่ม ถ้าต้นกล้าเหี่ยวเพราะเกิดอาการเน่าก็ต้องรีบเอาออกทิ้ง และรดด้วยยาฆ่าเชื้อราบ่อยๆ ระยะนี้ยังต้องวางกระบะไว้ในที่ร่มรำไรเช่นเดิม เมื่อต้นกล้างอกจนมีใบแท้ประมาณ 3 ใบ จึงทำการย้ายปลูกในกระถาง หรือถุงพลาสติก โดยใช้เครื่องปลูกที่มีส่วนผสมของดินร่วน ทราย ปุ๋ยคอก และอินทรีย์วัตถุอย่างละ  1 ส่วน
          วิธีการย้ายกล้าอาจใช้พลั่ว หรือไม่ไผ่แบนๆ แซะเบาๆอย่าให้รากช้ำโดยให้มี ดินติดรากและโคนต้นกล้าไปในหลุม ใช้มือกดดินและกดให้กระชับราก ตั้งต้นให้ตรง ให้โคนต้นกล้าอยู่ตรงคอดินพอดี รดน้ำด้วยฝักบัวฝอยละเอียดเพียงเบาๆ วางไว้ ในแสงแดดรำไรอีก 1 - 2  อาทิตย์ พอต้นกล้าเริ่มตั้งตัวได้ดีขึ้นก็นำมาวางไว้ในที่มี แสงแดดมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ ว่าเป็นไม้ในร่ม หรือไม้กลางแจ้ง

     3.1.1.7 การย้ายกล้าพีทูเนียที่ปลูกในกระบะ ( ความยาว 1.34 นาที )

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

          เมื่อกล้าพิทูเนียอายุ 10 -12 วัน ให้ย้ายไปกระบะใหม่ วัสดุในการย้าย คือ ดินสอดำและปากคีบ ส่วนผสมของดินปลูก คือ ทรายและขุยมะพร้าว ในอัตรา 1:1 บรรจุลงกระบะใหม่จนเต็ม แล้วย้ายกล้าพิทูเนียจากกระบะเดิมไปลงปลูกในกระบะใหม่ ระยะในการปลูก 1 * 1 นิ้ว ผสมปุ๋ยใบลงไปในน้ำที่ใช้รดทุกวันอย่างเจือจาง (1 ช้อนชา ต่อน้ำ 5 ลิตร) หลังจากนี้ประมาณ 20 วัน จึงย้ายไปในปลูกลงในกระถาง 3 นิ้ว โดยใช้ดินผสม คือ ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเทศบาล 2 ส่วน ทราย 1 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน แกลบผุหรือเปลือกถั่ว 1 ส่วน และปุ๋ย 14-14-14 ปลูกลงในกระถาง 3 นิ้ว 30 วัน รดน้ำเช้า-เย็น

     3.1.1.8 การย้ายกล้าพีทูเนียที่ปลูกในถ้วยโค้ก ( ความยาว 39 วินาที )

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

          เมื่อกล้าพิทูเนียที่ปลูกในถ้วยโค้กอายุ 10 -12 วัน ให้ใส่ปุ๋ยโดยละลายกับน้ำในอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 5 ลิตรและรดน้ำเช้า-บ่าย เป็นเวลา 20 วัน  จึงย้ายลงไปปลูกในกระถาง 3 นิ้ว  ประมาณ 30 วัน แล้วจึงไปปลูกในกระถางแขวนตามที่ต้องการ

3.2 การขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ 
3.2.1 การขยายพันธุ์วิธีการชำ
          การตัดชำ หมายถึงการตัดเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของกิ่งหรือลำต้น ทีมีตาข้างหรือตายอดไปปักชำ ในวัสดุที่มีสภาพเหมาะสม กิ่งหรือต้นพืชจะงอกรากออกมาและแตกยอดเป็นพืชต้นใหม่ได้ ซึ่งต้นพืชที่เกิดใหม่นี้จะมีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการ
          ความนิยม นิยมใช้กับไม้ดอกประกับที่ เนื้อไม้อ่อน ออกรากง่ายโดยธรรมชาติ เช่นพุดซ้อน เบญจมาศ เข็มปัตตาเวีย มังกรคาบแก้ว กุหลาบหิน ฯลฯ
ข้อดีของการขยายพันธุ์โดยการตัดชำ
     - เป็นวิธีการที่ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
     - ประหยัดค่าใช้จ่าย
     - ขยายพันธุ์ได้ในปริมาณมาก
     - ได้พืชต้นใหม่ในระยะเวลาสั้น
     - ทำได้ง่าย ไม่ต้องอาศัยเทคนิคหรือฝีมือมากนัก
     - ไม่มีปัญหาเรื่องต้นตอหรือฝีมือมากนัก
     - ได้พืชต้นใหม่ที่มีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการ
ข้อเสียของการตัดชำ
     - กิ่งมีขนาดเล็ก
     - ไม่มีรากแก้ว
วัสดุในการปักชำ เป็นตัวกลางควบคุมความชื้น อุณหภูมิ การระบายอากาศและยึดมิให้กิ่งหรือส่วนของพืชโค่นล้ม แต่มิได้เป็นแหล่งอาหารของพืช เพราะหลังจากพืชออกรากดีแล้ว จำเป็นต้องย้ายต้นหรือส่วนของพืชไปปลูกทันที
คุณสมบัติของวัสดุชำที่ดี
     - ทนทานไม่ผุสลายไปได้ง่าย
     - หาง่าย ราคาถูก
     - ดูดความชื้นได้มากพอ
     - ควรจะโปร่ง เพื่อการระบายน้ำดีและมีอากาศเพียงพอ
     - ปราศจากเมล็ดวัชพืช โรคและแมลง
วัสดุที่ใช้เพาะ
     - ทรายหยาบ (ก่อสร้าง)  1 ส่วน
     - ขี้เถ้าแกลบเก่าค้างปี  1 ส่วน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน

แบบต่างๆของการตัดชำ
1. การตัดชำต้น (Stem Cutting) เป็นการตัดชำโดยใช้ส่วนของลำต้นหรือกิ่ง
     1.1 การตัดชำกิ่งแก่ เป็นกิ่งที่มีการสะสมของคาร์โบไฮเดรทสูง แต่มีไนโตรเจนต่ำ กิ่งที่แตกขึ้นมาใหม่จึงสมบูรณ์ แต่ออกรากช้า กิ่งชนิดนี้จะสีน้ำตาล และไม่มีใบ
          - พืชที่นิยม ได้แก่ เฟื่องฟ้า คริสต์มาส เข็มปัตตาเวีย โมก ชาดัด
     1.2 การตัดชำกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ เป็นกิ่งที่มีใบ สีเขียวอมน้ำตาล
          - พืชที่นิยม ได้แก่ ชบา เล็บครุฑ ฯลฯ
     1.3 กิ่งอ่อน เป็นกิ่งที่มีไนโตรเจนสูง มีคาร์โบไฮเดรทต่ำ กิ่งเหี่ยวเฉาง่าย ชำออกรากเร็ว
          - พืชที่นิยม ได้แก่ กุหลาบ เทียนทอง เข็มญี่ปุ่น ไทรยอดทอง


2. การตัดชำใบ (Leaf Cutting) เป็นการตัดชำโดยใช้แผ่นใบที่ติดอยู่กับก้านใบไปชำในวัสดุชำ
          - พืชที่นิยม คือพืชที่มีใบหนา หรือไม้อวบน้ำ เช่นบีโกเนีย โคมญี่ปุ่น กุหลาบหินอัฟริกันไวโอเลต
3. การตัดชำใบที่มีตาติด( Leaf bud Cutting) ทำได้โดยการตัดใบให้มีตาและกิ่งติดไปด้วยเมื่อนำไปชำพืชพวกนี้จะแทงรากใหม่ได้ และส่วนของตาเจริญไปเป็นต้นได้
          - พืชที่นิยม  เช่นยางอินเดีย
4. การตัดชำราก (Root Cutting) ทำได้โดยการตัดส่วนของรากพืช แล้วนำไปชำในวัสดุชำส่วนรากพืชสามารถเจริญเป็นต้นใหม่ได้
          - พืชที่นิยม เช่น เข็ม ทองหลางลาย สนปฎิพัทร สาเก แคแสด

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกรากของกิ่งปักชำ
          - เลือกกิ่งที่สมบูรณ์แข็งแรง  อายุพอเหมาะ
          - ควรทำการปักชำเมื่อพ้นระยะพักตัวพักตัวแล้ว
          - วัสดุปักชำควรเหมาะสม
          - รักษาความชื้นกระบะชำให้สม่ำเสมอ
          - ได้รับแสงแดดรำไร
          - รอยตัดด้านล่างของกิ่ง ตัดให้ชิดข้อ
          - มีใบติดบนกิ่งบ้างจะช่วยให้กิ่งออกรากเร็ว
          - ใช้ฮอร์โมนเร่งให้เกิดราก เช่น IBA , NAA

1. วิธีการขยายพันธุ์โดยการตัดชำกิ่งแก่ ( ความยาว 2.09 นาที )

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

การตัด - เลือกกิ่งที่ต้องการ โดยใช้กิ่งแก่สีน้ำตาล ไม่มีใบ
          - ตัดด้วยกรรไกรคมๆ เป็นท่อนๆ ยาว ประมาณ 6 นิ้ว มีข้อ 3 ข้อ
          - ตัดให้รอยตัดส่วนล่างอยู่ใต้ข้อ โดยห่างจากข้อ 1/3 นิ้ว
          - ตัดให้รอยตัดส่วนบนสูงจากข้อประมาณ ½  นิ้ว
          - ตัดให้รอยตัดเฉียงประมาณ 45 องศา ทั้งส่วนบนและล่าง
          - ให้ตาบนอยู่ตรงกับส่วนยอดของรอยตัด
การชำ - เตรียมกระบะชำ
          - ผสมทรายและขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1 : 1 ใส่น้ำให้ชื้น ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน
          - บรรจุส่วนผสมลงกระบะชำจนเต็ม
          - ปักกิ่งชำลงกระบะ ลึกประมาณ 1/3 ของกิ่ง หรือให้ตาของกิ่งชำเหลืออยู่อย่างน้อย 1 – 2 ตาโผล่ขึ้นมา
          - ปักเอน 60 องศาจากพื้น โดยให้ตาหงายขึ้น
          - รดน้ำให้ชุ่ม รักษากระบะอย่าให้แห้ง
          - วางไว้บริเวณที่มีแสงรำไร

2. วิธีการตัดชำกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ ( ความยาว 2.34 นาที )

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

การตัด - ใช้กิ่งที่มีใบติด และกิ่งมีสีเขียวอมน้ำตาล
          - ตัดกิ่งด้วยกรรไกร ยาวประมาณท่อนละ 4 นิ้ว
          - ปลิดใบส่วนที่อยู่ตอนล่างออก เหลือใบตอนบนไว้ ประมาณ 3-5 ใบ
การชำ - เตรียมกระบะชำและวัสดุชำเช่นเดียวกับการปักชำกิ่งแก่
          - ปักเหมือนกับการชำกิ่งแก่
          - การดูแลรักษาเหมือนการปักชำกิ่งแก่

3. การตัดชำกิ่งอ่อน ( ความยาว 1.40 นาที )

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

การตัด - ใช้กิ่งบริเวณส่วนยอด
          - ตัดให้เป็นท่อนๆยาว 3-5 นิ้ว
          - ตัดให้รอยตัดเฉียงหรือตรงก็ได้
          - ปลิดใบตอนล่างของกิ่งออก
การชำ - เตรียมกระบะและวัสดุชำเช่นเดิม
          - ปักกิ่งลึก 1/2 - 2/3  ของกิ่ง
          - รดน้ำให้ชุ่มและรักษากระบะชำอย่าให้แห้ง วางไว้ในที่แสงแดดรำไร

4. การย้ายกิ่งปักชำ ( ความยาว 1.09 นาที )

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

          เมื่อกิ่งปักชำออกรากดีแล้ว สังเกตจากจำนวนกิ่งและใบมีมาก ใบมีสีสัน สวยงามสดใส ให้ย้ายลงปลูกในกระถางทันที อย่าทิ้งไว้นาน เพาะวัสดุชำไม่มีธาตุอาหาร
          - เตรียมกระถาง ขนาด 6  นิ้ว
          - นำเศษอิฐวางปิดรูก้นกระถาง
          - นำดินใส่กระถาง ประมาณ 1/3 กระแทกเบาให้ดินเรียงตัวไม่หลวมหรือแน่นเกินไป
          - ขุดกล้าออกจากกระบะชำ เอาขี้เถ้าแกลบรอบนอกออกเหลือด้านในส่วนที่รากเกาะอยู่ไว้เล็กน้อย
          - ใช้มือซ้ายจับต้นกล้าวางตรงกลางกระถาง ให้ต้นกล้าตั้งตรงอย่าให้เอียง
          - กลบดินด้วยมือขวาให้แน่นพอประมาณ โดยรอบต้น
          - รดน้ำให้ชุ่ม
          - วางกระถางไว้ในที่แสงรำไร ในระยะ 7 วันแรกเมื่อตั้งตัวดีแล้ววางในที่ได้แสงแดดเต็มที่
          - คลุมปากกระถางด้วยกาบมะพร้าวสับเพื่อรักษาความชื้น

3.2.2 การขยายพันธุ์วิธีการตอน
          การตอนหมายถึง การทำให้กิ่งพืชเกิดรากในขณะที่ยังติดอยู่กับต้นแม่ เมื่อกิ่งออกรากแล้ว จึงตัดไปชำก่อนปลูก เมื่อแข็งแรงดีแล้วจึงนำไปปลูกต่อไป
ข้อดีของการตอน
          1.  ต้นที่ได้จากกิ่งตอน ไม่มีการกลายพันธุ์
          2.  ให้ดอกและผลเร็วกว่ากิ่งชำ เนื่องจากกิ่งมีขนาดใหญ่กว่า
          3.  ให้รากมากกว่ากิ่งชำ
          4.  เมื่อนำไปปลูก มี  % การตายน้อยกว่ากิ่งปักชำ
          5.  ใช้กับพืชที่ออกรากยากและไม่นิยมขยายพันธุ์โดยการปักชำ
          6.  ทำได้ไม่ยาก และไม่ต้องเอาใจใส่มากนัก
          7.  เป็นพุ่มเตี้ย สะดวกในการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว
ข้อเสียของการตอน
          1.  ไม่มีรากแก้ว จึงโค่นล้มง่าย ระบบรากตื้น ไม่ทนแล้ง
          2.  จำนวนกิ่งตอนที่ได้มีปริมาณน้อยกว่ากิ่งชำ
          3.  กิ่งตอนมีขนาดโตจึงต้องนำลงปลูกในภาชนะก่อนเมื่อตั้งตัวดีแล้วจึงย้ายลงแปลงปลูก
          4.  การขนย้ายกิ่งตอนไปปลูกไม่สะดวก เนื่องจากกิ่งมีขนาดใหญ่
วัสดุอุปกรณ์ในการตอน
          1.  มีดคม ๆ
          2.  ขุยมะพร้าวถุงพลาสติก (ขุยมะพร้าวผสมน้ำให้ชื้น บรรจุถุงพลาสติก รัดปากถุง แล้วใช้มีดกรีดด้านข้าง แหวะขุยมะพร้าวให้ลึกๆ)
          3.  เชือกฟาง
          4.  ฮอร์โมนเร่งราก
การเลือกกิ่งตอน
          1.  เลือกกิ่งที่มีขนาดประมาณเท่าแทงดินสอดำ
          2.  เลือกกิ่งที่กลางแก่กลางอ่อน คือกิ่งที่มีสีเขียวอมน้ำตาล
          3.  กิ่งที่มีลักษณะตั้งตรง หรือกิ่งกระโดง
          4.  เป็นกิ่งที่ได้รับแสงแดด
          5.  สมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคและแมลงรบกวน
วิธีการตอนแบบตอนในอากาศ (Air Layering) ( ความยาว 3.06 นาที )

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

          1.  ใช้มีดควันรอบกิ่ง 2 รอย ให้รอยควั่นแรกอยู่บริเวณใต้ตาหรือใต้ข้อเล็กน้อยรอยควั่นที่ 2 ถัดลงมาห่างจากรอยควั่นแรกเท่ากับความยาวเส้นรอบวงกิ่ง
          2.  ใช้ปลายมีดกรีดเปลือกจากรอยควั่นด้านบน มายังรอยควั่นด้านล่างลึกถึงเนื้อไม้
          3.  ลอกเปลือกออกโดยรอบให้หมด
          4.  ขูดเยื่อออกเบาๆ ให้เกลี้ยงโดยรอบกิ่ง (ถ้าขูดไม่หมดจะไม่ออกราก)
          5.  ใช้ปลายมีดกรีดเปลือกเหนือรอยควั่นด้านบน ลึกถึงเนื้อไม้แล้วทาฮอร์โมนตรงลอยแผล
          6.  หุ้มกิ่งด้วยขุยมะพร้าวที่เตรียมไว้ ให้เลยรอยควั่นด้านบนขึ้นไป
          7.  รัดด้วยเชือกฟางให้แน่น 2 รอย
การดูแลรักษากิ่งตอน
          1.  อย่าให้ขุยมะพร้าวที่หุ้มกิ่งแห้ง ถ้าแห้งใช้เข็มฉีดยาฉีดน้ำเข้าไป
          2.  กิ่งต้องได้รับแสงแดด ตรวจอยู่เสมอ อย่าให้มด แมลงเข้าไปทำรัง
          3.  รดน้ำสม่ำเสมอ อย่าให้ดินแห้ง ประมาณ 15 วัน ถึง 3 เดือนจะออกราก
การตัดกิ่งตอน
          1.  รากมีปริมาณมากๆ
          2.  รากมีสีคล้ำ (เหลืองอมน้ำตาล) ก่อนจึงตัด
          3.  เมื่อตัดกิ่งขาดจากต้นแม่ ต้องนำกิ่งแช่น้ำทันที
          4.  กิ่งที่ตัดออกมาถ้ามีใบมาก และกิ่งยาว ให้ตัดใบและตัดยอดออกบ้าง
          5.  เเก้เชือกที่ผูกออก ค่อยๆลอกถุงพลาสติกออกจากขุยมะพร้าวระวังอย่าให้รากขาด
          6.  นำลงปลูกในกระถาง เลี้ยงไว้บริเวณที่ๆมีแสงรำไร ระยะหนึ่ง จนตั้งตัวได้จึงนำไปปลูกในแปลงปลูกจริงหรือจำหน่ายต่อไป
การปลูกกิ่งตอนลงกระถาง
          เมื่อกิ่งตอนออกรากจำนวนมากและรากมีสีคล้ำ (เหลืองอมน้ำตาล) จึงตัดกิ่งขาดจากต้นแม่ เมื่อตัดแล้วรีบนำกิ่งแช่น้ำทันที
การเตรียม - วัสดุอุปกรณ์
          - เตรียมกระถางให้มีขนาดเหมาะสมกับกิ่ง
          - ถ้ากิ่งมีขนาดยาว หรือใหญ่มากให้ตัดกิ่งออกให้เหมาะ ปลิดใบออกบ้าง
          - ใช้ก้อนอิฐหรือเศษกระถางแตกวางปิดรูที่ก้นกระถาง
          - เตรียมดินผสมบรรจุลงกระถางประมาณ 1/3 ของกระถาง
วิธีการปลูกกิ่งตอนลงกระถาง ( ความยาว 1.15 นาที )

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

          - แกะเชือกที่รัดกิ่งออกแล้วค่อยๆ เอาถุงพลาสติกออกจากขุยมะพร้าวด้วยความระมัดระวังอย่าให้รากขาด
          - ใช้มือซ้ายจับกิ่งตั้งตรงกลางกระถางที่บรรจุดินไว้ อย่าให้กิ่งเอน
          - ใช้มือขวากลบดินรอบกิ่งให้แน่นพอประมาณโดยให้ดินกลบปิดขุยมะพร้าวจนมิด
          - ใช้ไม้ปักข้างๆกิ่งให้แน่นแล้วผูกเชือกตรึงกิ่งกับหลักไม้ กันลมโยก
          - รดน้ำให้ชุ่ม เช้า-เย็น
          - วางไว้ในที่แสงรำไร เมื่อตั้งตัวดีแล้วประมาณ 1 สัปดาห์จึงให้ได้รับแสงแดดเต็มที่
          - เมื่อกิ่งเจริญเติบโต แข็งแรงดีจึงนำไปปลูกในแปลงปลูกต่อไป
          - กิ่งตอนที่ปลูกในแปลงปลูกต้องใช้ไม้ไผ่ปักกันลมโยก
          - คลุมดินบริเวณโคนต้นด้วยฟางข้าวหรือแกลบดิบเพื่อรักษาความชื้น
          - ใส่ปุ๋ยตามความเหมาะสม

3.2.3 การติดตา ต่อกิ่ง
          การติดตา ต่อกิ่ง หมายถึง ศิลปะในการทำให้เกิดการเชื่อมประสานเนื้อที่เป็นส่วนของต้นพืชเข้าด้วยกันและเจริญเติบโตต่อไปเหมือนกับเป็นต้นเดียวกัน ส่วนของพืชที่นำมาติดหรือต่ออยู่ทางบนเรียกว่า กิ่งพันธุ์ดี ( Scion or Cion ) ส่วนล่างของต้นพืชที่ทำหน้าที่เป็นรากเรียกว่า ต้นตอ ( Stock or Rootstock orUnderstock ) การติดตาต่อกิ่ง แบ่งออกเป็น 3 แบบคือ การติดตา การต่อกิ่ง และการทาบกิ่ง
     ประโยชน์ของการติดตา ต่อกิ่งและทาบกิ่ง
          1. ทำให้สามารถเปลี่ยนยอดต้นพืชที่มีลักษณะไม่ดีให้เป็นพันธุ์ดีได้
          2. ทำให้ต้นพืชดีมีความต้านทานโรค และความแห้งแล้งเพราะมีต้นตอที่แข็งแรง
          3. สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก ๆ
          4. ทำให้พืชมีผลหรือดอกหลาย ๆ ชนิดในต้นเดียวกัน

การติดตา ( Budding )
          การติดตา หมายถึง การนำตาจากกิ่งพันธุ์ดีมาหนึ่งตาทำให้เชื่อมติดกับต้นตอ แล้วตาที่นำมาติดนั้นจะเจริญเติบโตแตกกิ่ง เสมือนกับเป็นพืชต้นเดียวกับต้นตอ วิธีการติดตาที่นิยมใช้โดยทั่วไปมีดังนี้
          1. การติดตารูปตัวที ( T – Budding ) เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก สำหรับติดตาต้นพืชที่ลอกเปลือกได้ง่าย โดยการกรีดต้นตอเป็นรูปตัวที รอยกรีดจะต้องอยู่ใต้ข้อ ขนาดของรอยแผลขึ้นอยู่กับขนาดของต้นตอ เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปโล่ โดยไม่ให้ติดเนื้อไม้ หรือติดมาเพียงเล็กน้อย ใช้มีดเผยอรอยกรีดรูปตัวทีออกแล้วสอดแผ่นตาลงไป นิยมใช้กันมากสำหรับติดตากุหลาบ
          2. การติดตาแบบปะ ( Patch Budding ) ใช้กับต้นตอที่สามารถลอกเปลือกได้ เช่น ยางพารา มะม่วง การติดตาแบบปะทำได้โดยการกรีดต้นตอถึงเนื้อให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วแกะเปลือกต้นตอ ต้องเฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้มีขนาดและลักษณะเดียวกันประกบลงบนรอยแผลของต้นตอที่เตรียมไว้แล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น การติดตาแบบนี้มีเครื่องมือสำหรับเตรียมต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีให้มีขนาดเท่ากัน เรียกว่า แพซ์บัดเดอร์ ( Patch Budder )
การต่อกิ่ง ( Grafting )
          การต่อกิ่ง หมายถึงการกระทำวิธีการใด ๆ เพื่อให้ได้กิ่งพันธุ์ดีซึ่งมีตามากกว่าหนึ่งตา เชื่อมประสานกับต้นตอที่เตรียมไว้ วิธีการต่อกิ่งทำได้หลายวิธี คือ
     1. การต่อยอด ( Top-grafting ) คือการนำเอากิ่งพันธุ์ดีมาต่อลงบนต้นตอที่อยู่สูงกว่าระดับดิน เป็นวิธีการที่นิยมกันแพร่หลาย ทั้งไม้ผล ไม้ประดับซึ่งการต่อยอดนั้นสามารถดัดแปลงได้หลายแบบรอยแผลที่ทำกับต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี คือ
          1) การต่อแบบเสียบลิ่ม ( Cleft grafting )
          2) การต่อแบบฝานบวบ ( Spliced grafting )
          3) การต่อแบบเข้าเดือย ( Saddle grafting )
     2. การต่อคอดิน ( Crown grafting ) เป็นการติดกิ่งโดยเอากิ่งพันธุ์ดีมาต่อลงบนต้นตอตรงบริเวณรอยต่อของรากและลำต้น เป็นวิธีการที่นิยมใช้เปลี่ยนยอดองุ่นที่มีอายุมาก ๆ โดยวิธีเสียบกิ่ง
     3. การต่อราก ( Root grafting ) คือการเอากิ่งพันธุ์ดีมาต่อกับรากพืชโดยตรง เช่น แอปเปิ้ลและแพร์ ไม่พบว่านำมาใช้กับพืชชนิดใดในประเทศไทย

3.2.4 การทาบกิ่ง ( Inarching or Approach grafting )
          การทาบกิ่ง คือ การทำให้พืชสองต้นเกิดการเชื่อมประสานเนื้อเยื่อกันขึ้นโดยมีระบบรากด้วยกันทั้งคู่ ขนาดของกิ่งพันธุ์ดี ควรมีความใกล้เคียงกับต้นตอหรืออาจใหญ่กว่าเล็กน้อยแต่ถ้ากิ่งพันธุ์ดีมีขนาดใหญ่กว่ามาก ควรใช้ต้นตอทาบมากกว่า 1 ต้น เมื่อกิ่งพันธุ์ดีและต้นตอเชื่อมกันสนิทดีแล้ว จึงตัดกิ่งทาบออกจากต้นแม่ การทาบกิ่งส่วนมากนิยมใช้กับพืชประเภท มะม่วง มะขามหวาน ขนุน และวิธีการทาบกิ่งที่นิยมกันมากที่สุดคือ การทาบแบบเสียบข้าง เพราะสามารถทำได้รวดเร็วและในการประสานเนื้อเยื่อของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

3.2.5 การแบ่งและการแยก ( Division and Seperation )
          การแบ่ง ( Division ) คือ การตัดแบ่งลำต้นและรากพืชประเภทสะสมอาหารไปปลูกหรือชำเพื่อให้เกิดต้นใหม่ เช่น การตัดแบ่งมันฝรั่ง ซึ่งมีลำต้นสะสมอาหารชนิดทิวเบอร์ ( Tuber ) และการตัดแบ่งหัวมันเทศ ซึ่งมีรากพิเศษที่สะสมได้และขยายพันธุ์ได้ที่เรียกว่า ทิวเบอร์รัส รูท ( Tuberous root )
          การแยก ( Seperation ) คือ การขยายพันธุ์โดยการแยกส่วนของพืชไปปลูกหรือชำตามรอยธรรมชาติที่พืชมีอยู่แล้ว เช่น หอม กระเทียม พลับพลึง ว่านสี่ทิศ อาจใช้วิธีแกะกลีบออกโดยไม่ต้องผ่าหรือจะผ่าออกก็ได้
ประโยชน์ของการแบ่งและการแยก
          1. เป็นวิธีขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศที่เป็นการเพิ่มจำนวนต้นพืชได้เร็วที่สุด
          2. ใช้ขยายพันธุ์พืชประเภทหัว ทั้งประเภทใบเลี้ยงเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่ซึ่งหัวเกิดจากลำต้นและรากพิเศษ เช่น ข่า หอม กระเทียม เป็นต้น

3.3 การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ( Tissue Culture )
          การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่เป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของราก ต้น ยอด และคัพภของพืช โดยนำไปเพาะเลี้ยงในอาหารพิเศษซึ่งอยู่ในสภาพที่ปลอดเชื้อ ดังนั้นการขยายพันธุ์โดยวิธีนี้จึงเป็นการขยายพันธุ์ทั้งโดยอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ วิธีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนำมาใช้ครั้งแรกในกาเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ ปัจจุบันสามารถนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชได้เกือบทุกชนิด
ประโยชน์ของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
          1. ใช้ขยายพันธุ์พืชให้ได้จำนวนมาก
          2. ช่วยให้วิธีการขยายพันธุ์พืชโดยไม่ใช้เพศปราศจากเชื้อไวรัส
          3. ช่วยในการปรับปรุงพันธุ์พืชและเก็บรักษาพันธุ์พืช
          4. ใช้ในการศึกษาทดลองด้านต่าง ๆ ของนักพฤกษศาสตร์

Free Web Hosting