หน่วยที่ 5
ไม้ประดับกับการจัดสวนและตกแต่งสถานที่จัดสวน

จัดสวน

      สวน ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจะพบว่า สวน (สวน 1 น) หมายถึง บริเวณที่ปลูกต้นไม้จำนวนมากซึ่งกั้นเป็นขอบเขตไว้ ซึ่งเป็นคำกล่าวทั่วๆ ไป แต่ถ้าหากต้องการกล่าวถึงว่าเป็นสวนชนิดใด ลักษณะใด ก็จะมีคำอื่นประกอบหลังบอกให้ทราบโดยเฉพาะ เช่น สวนหย่อม สวนกล้วยไม้ เป็นต้น ดังนั้นถ้านำคำว่า “สวน” ไปรวมกับคำว่า “จัด”เป็นการจัดสวน คือการวางระเบียบหรือเรียงลำดับ จัดให้เป็นแถวเพื่อให้เกิดความสวยงาม

5.1 วัตถุประสงค์ของการจัดสวน มี 3 ประการ คือ
         1. การจัดสวนเพื่อประชาชน จะต้องสนองตอบต่อความต้องการของคน คือใช้คน เป็นศูนย์กลางจะต้องเน้นและเอื้ออำนวยประโยชน์สูงสุดแก่คน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรืออื่นๆ กิจกรรมที่คนกระทำอยู่ เช่นในสวนจะต้องมีทางเดิน ทางเดินเท้า ทางถนนรถยนต์ ศาลาพัก ม้านั่ง สระว่ายน้ำ ที่ละเล่นกลางแจ้ง มีต้นไม้ยืนต้นเป็นร่มเงาตามทางเดิน นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่ม ไม้คลุมดินเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมต่างๆ มีการตัดเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อให้เกิดความสวยงาม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมภายใน ป้องกันมลพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ เสียง ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น
         2. การจัดสวนเพื่อความสวยงาม เน้นที่สุนทรียภาพต่างๆ มุ่งความงามให้เกิดความสุขทางด้านจิตใจ อารมณ์ การจัดจะหลากหลายบรรยากาศ มีมุมสงบมีมุมก่อให้เกิดความประหลาดใจ เป็นการมุ่งเน้นให้เกิดคุณค่า มีความลี้ลับ เพื่อให้เกิดความคิด ความสนใจ ความระทึกใจ  ความสร้างสรรค์ เช่น การจัดสวนที่มีมุมน้ำพุ น้ำตก ทางน้ำไหล ไม้ดอกสวยงาม เป็นต้น การจัดสวนประเภทนี้นิยมจัดในบริเวณบ้าน มุ่งเน้นให้เกิดความสวยงามของสถานที่และความงามของพรรณไม้
         3. การจัดสวนเพื่อการทดลอง เป็นการมุ่งเน้นการทดลอง การปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ การคัดเลือกพันธุ์ใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งพันธุ์พืชที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการประกอบการจัดสวนและกิจกรรมที่ต่อเนื่อง วัตถุประสงค์ของการจัดสวนชนิดนี้มุ่งเน้นการศึกษา การค้นคว้า และการวิจัยต่างๆ

5.2 ประโยชน์และความสำคัญของการจัดสวน
         ปัจจุบันการจัดสวนนิยมทำกันมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดสวนในบริเวณบ้าน สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ  ซึ่งแต่เดิมนั้นทำเฉพาะภายในพระราชวังหรือตามวัดใหญ่ๆ เท่านั้น ในอนาคตการจัดสวนนับว่าจะมีความสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้เพราะการจัดสวนเริ่มมีความสำคัญต่อสภาพจิตใจและร่างกายมนุษย์เพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนี้
          1. ทำให้พื้นที่มีขอบเขต เป็นแนวรั้ว มีความปลอดภัย ทั้งยังมีพรรณไม้ต่างๆ มากมาย ตลอดจนได้ร่มเงาจากไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม
          2. ลดเสียงรบกวนจากบริเวณภายนอกหรือถนนต่างๆ ทำให้บริเวณภายในสวนร่มรื่นมักใช้ไม้พุ่มหนาหรือไม้ยืนต้น เช่น อโศกอินเดีย ชบา เข็ม ผกากรอง เป็นต้น
          3. ทำให้พื้นที่บริเวณสวนดูสะอาดตา มีอากาศบริสุทธิ์
          4. เพื่อกรองฝุ่นละอองที่กระจายทั่วๆ ไปในอากาศ โดยเลือกใช้พรรณไม้ที่สามารถเก็บฝุ่นละอองได้มาก เช่น สนทะเล สนประดิพัทธ์ เป็นต้น
          5. จัดแต่งบางตำแหน่งของสวนเพื่อปิดบังสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมของบริเวณใกล้เคียง เช่น บริเวณที่มีกองขยะ เป็นต้น

5.3 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ การออกแบบจัดสวน
          การออกแบบจัดสวน คือการจะทำให้สวนมีความสวยงาม จะต้องมีความรู้พื้นฐานค่อนข้างจะสูงมาก ในเรื่องของการออกแบบ นอกจากนี้ สวนสวย ไม่ใช่ว่า สวนจะอยู่ได้นาน จะต้องดูว่าสวนสวย จะต้องมีการดูแลรักษาที่ดี เพื่อให้เขามีชีวิต ที่อยู่ได้ยาวนาน ด้วย หลักการออกแบบ จึงมีความ จำเป็น ต่อการจัดสวนมาก เพราะถือว่าการออกแบบ การเขียนแบบ เป็นจุดเริ่มต้น ของงาน การออกแบบ ที่ดีต้องอาศัยความรู้อยู่ 2 อย่างด้วยกัน
          1. องค์ประกอบของศิลป์ เป็นศิลปะที่เกิดจาก การผสมผสานของจิตใจ สอดคล้องกับวิถีชีวิต และเพื่ออำนวยประโยชน์สูง ทางด้าน ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ องค์ประกอบของศิลป์ ที่สำคัญได้แก่ สี ต้องมีความเข้าใจเรื่องของสี เรื่องของเส้น เรื่องของพื้นผิว เรื่องของรูปทรง เรื่องของรูปร่าง เรื่องของช่องว่าง และก็ลวดลาย ซึ่งถือว่าเป็น องค์ประกอบของศิลปะ ผู้ออกแบบจะต้องทำ ความเข้าใจ
          2. หลักในการออกแบบ จะเน้นที่ความสมดุล จะเป็นสมดุลที่แท้จริง สมดุลแบบเชิงล้อเลียนธรรมชาติ อะไรก็แล้วแต่ ช่วงจังหวะทั่วๆ ไปที่เราเรียกว่า ลิทึม สำหรับมาตราส่วน ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ความเป็นเอกภาพจัดไปแล้ว มีความเป็นหนึ่งเดียว ไม่หลากหลาย หรือสับสนมากเกินไป ความกลมกลืนของกลุ่มวัสดุที่ใช้ เช่น กลุ่มของหิน กลุ่มของพืชพันธุ์ ในระหว่างการสร้างจุดเด่น รวมถึง ความขัดแย้งถ้าเผื่อจำเป็น จะต้องมีอันนี้เป็น หลักของการออกแบบที่ดี ผู้ออกแบบที่ดี จะต้องศึกษา ข้อมูลเหล่านี้ให้ชัดเจนและเข้าใจ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางประเด็น ที่อยากจะให้ข้อเสนอแนะว่า ในการออกแบบเราก็มีข้อคิดหลายๆ ข้อคิดที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กรณีของการใช้สีในการจัดสวน ถ้าหากเป็น ชาวตะวันออก จะนิยมใช้กลุ่มสีที่เป็นสีเย็นหรือสีพื้น หรือใส่เสื้อผ้าสีพื้นมากกว่า ฉูดฉาด เพราะฉะนั้นลักษณะพืชพันธุ์ สิ่งของที่นำมาใช้ วัสดุมักจะเป็นสีพื้นๆ และดูได้นาน มีความกลมกลืนค่อนข้างยาวนาน แต่ถ้าเป็น การจัดสวน แบบชาวยุโรปตะวันตก เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้าง จะแปรปรวนง่าย สีที่ใช้ส่วนใหญ่ของพืชพันธุ์วัสดุ มักจะเป็น สีซ้อนและสีค่อนข้าง จะฉูดฉาด เน้นค่าของสีต่อพื้นที่ พื้นผิวที่ต่างกัน จะมีแปลงไม้ดอกสดใสมากมายในแถบยุโรปซึ่งแตกต่างกัน ในเรื่องการใช้สี นอกจากนี้จะพิจารณาถึง ฉากหลัง หรือ ผนังของอาคาร ต่างๆ อย่างเช่น กรณีของผนัง ถ้าเป็น ผนังของอาคาร ที่เป็นสีสว่างๆ ก็จะเลือกใช้วัสดุที่มีสีเข้ม เพื่อให้มองดูสวยขึ้น และในทำนองเดียวกัน ถ้าหาก ผนังอาคาร สีเข้มอยู่แล้ว อาจจะใช้วัสดุ พืชพันธุ์ สีสว่าง เพื่อมองดูเด่นชัด อาจจะมีความขัดแย้งกันอยู่บ้าง กรณีพื้นผิวต่อ งานออกแบบ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้ากรณีพื้นผิวหยาบ พืชพันธุ์ ที่นำมาใช้ก็ควร จะใช้ที่มีพื้นผิวละเอียดจะมองดู เป็นความขัดแย้งแต่ ถ้าหากเราต้องการให้มี ความกลมกลืนอาจจะ ใช้พื้นผิวที่หยาบ เช่น พันธุ์ไม้ที่มีใบใหญ่ใบหนา ถ้าหากว่าพื้นผิวหยาบ จะไว้ส่วนหลัง ส่วนหน้าก็จะเป็นพื้นผิวค่อนข้างจะปานกลาง หน้าสุดก็จะเป็นละเอียด ถ้าเป็นสนามหญ้าเปิดกว้างๆ จะใช้หญ้านวลน้อย ถ้าหากใต้ร่มไม้ ที่มีแสงไม่มากนัก จะใช้หญ้ามาเลเซีย หรือพื้นที่ขนาดเล็ก อาจจะใช้หญ้าที่ละเอียด เช่น หญ้าญี่ปุ่น การจัดสวน เพื่อให้เกิด ความสวยงาม บางทีสวนที่จัดซับซ้อนเกินไป ไม่ได้บ่งชี้ความสวยงาม ระยะยาว แต่สวนที่จัดให้เกิดความสวยงาม กลับกลายเป็นจัดสวนที่ง่าย มีสนามหญ้าเปิดกว้าง ดูแลรักษาง่าย ยาวนาน และเสริมสิ่งก่อสร้างหลักให้สวยงามมากขึ้น การจัดสวน อย่าให้เป็นเหมือน การจัดเรือนต้นไม้ หรือ ร้านขายต้นไม้ เป็นหลักการ ที่ค่อนข้างจะสำคัญ

5.3.1 องค์ประกอบของศิลป์ Composition
          เป็นองค์ประกอบที่ถูกกำหนดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นองค์ประกอบมูลฐานของความงาม ในการออกแบบจัดสวน จำเป็นต้องเข้าใจคุณค่า และมูลฐานที่สำคัญของความงาม สามารถนำไปใช้ให้เกิดความกลมกลืน องค์ประกอบของศิลป์ ประกอบด้วยจุด (point) เส้น (line) สี (colour) รูปร่างรูปทรง (shape and form) ลักษณะผิว (texture) ลวดลาย (pattern) และช่องว่าง (space or voloume)
5.3.1.1 จุด (point) 
          จุดเป็นสิ่งแรกสุดของการเห็น โดยความรู้สึกของเราแล้ว จุดไม่มีความกว้าง ความยาว และความลึก เป็นสิ่งที่เล็กที่สุดไม่สามารถแบ่งแยกออกได้อีก ดังนั้นจุดจึงหยุดนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหว (static) ไม่มีทิศทางและเป็นศูนย์รวม (centrlized) จุดเป็นองค์ประกอบเริ่มแรกของรูปทรง จุดจึงเป็นตัวกำหนด
               - ปลายทั้งสองข้างของเส้น
               - จุดตัดของเส้นสองเส้น
               - วางบรรจบกันของเส้นที่มุมของแผ่นระนาบ หรือก้อนปริมาตร
          ในธรรมชาติเราจะเห็นจุดกระจายซ้ำๆ อยู่ทั่วไปในที่ว่าง เช่น จุดที่สุกใสของกลุ่มดาวในท้องฟ้า ลายจุดในตัวสัตว์และพืชบางชนิด เมื่อเราอยู่ในที่สูงๆ แล้วมองลงมายังกลุ่มคน จะเห็นเป็นจุดกระจายเคลื่อนไหวไปมา หรือรวมกลุ่มกัน ตัวจุดเองนั้น เกือบจะไม่มี ความสำคัญอะไรเลย เนื่องจาไม่มีรูปร่าง ไม่มีมิติ แต่เมื่อจุดนี้ ปรากฏตัวในที่ว่าง ก็จะทำให้ที่ว่างนั้น มีความหมายขึ้นมา ทันที เช่น ถ้าในที่ว่างนั้นมีจุดเพียงจุดเดียว ที่ว่างกับจุดจะมีปฏิกริยาผลักดันโต้ตอบซึ่งกันและกัน จุดที่อยู่กึ่งกลางบริเวณจะมั่นคง (stable) สงบ ไม่เคลื่อนที่ และเป็นสิ่งสำคัญโดดเด่น แต่เมื่อจุดถูกย้ายออกจากกึ่งกลาง บริเวณรอบๆ จะดูแกร่งขึ้น และเริ่มแย่งกัน เป็นจุดเด่น ของสายตา แรงดึงสายตาจะเกิดขึ้นระหว่างจุดกับบริเวณรอบๆ
          ส่วนจุดที่รวมกันหนาแน่น เป็นกลุ่ม เส้นรูปนอก หรือเส้นโครงสร้างของกลุ่มจะปรากฏให้เห็นในจินตนาการ และจุดที่ซ้ำๆ กันในจังหวะต่างๆ จะให้แบบรูป (pattern) ของจังหวะที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่จำกัด

5.3.1.2 เส้น (line)
          เส้นเป็นพื้นฐานของโครงสร้างของทุกสิ่งในจักรวาล เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการออกแบบ สิ่งต่างๆ ล้วนเกิดจากเส้นประกอบเข้าด้วยกัน ความหมายของคำว่าเส้นคือ
               - เส้นเกิดจากจุดที่ต่อกันในทางยาว
               - เส้นเป็นขอบเขตของที่ว่าง ขอบเขตของสิ่งของ ขอบเขตของรูปทรง ขอบเขตของน้ำหนักและขอบเขตของสี
               - เส้นเป็นขอบเขตของกลุม สิ่งของ หรือรูปทรงที่รวมกันอยู่ เป็นเส้นโครงสร้างที่เห็นได้ด้วยจินตนาการ
          คุณลักษณะของเส้น เส้นมีมิติเดียว คือความยาว เส้นขั้นต้นที่เป็นพื้นฐานมี 2 ลักษณะ คือเส้นตรง กับเส้นโค้ง เส้นทุกชนิด สามารถ แยกออกเป็น เส้นตรงกับเส้นโค้งได้ทั้งสิ้น เส้นลักษณะอื่นๆ ซึ่งเราเรียกว่า เส้นขั้นที่ 2 เกิดจากการประกอบกัน เข้าของเส้นตรง และ/หรือเส้นโค้ง เช่น เส้นฟันปลา เกิดจากเส้นตรงมาประกอบกัน และเส้นโค้ง ที่ประกอบกันหลายๆ เส้น ก็จะได้เส้นลูกคลื่น หรือ เส้นเกล็ดปลา เป็นต้น นอกจากนี้เส้นยังมีทิศทางของเส้น ได้แก่ แนวราบ แนวดิ่ง แนวเฉียงเป็นต้น ส่วนขนาดของเส้น เส้นไม่มีความกว้าง จะมีแต่เส้นบาง เส้นหนา เส้นเล็ก เส้นใหญ่ ความหนาของเส้นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับความยาว หากเส้นสั้น และมีความหนามาก ก็จะหมดคุณลักษณะของความเป็นเส้นกลายเป็นรูปร่าง (shape) สี่เหลี่ยมผืนผ้า
     ความรู้สึกที่เกิดจากลักษณะของเส้น
          - เส้นตรง ให้ความรู้สึกแข็งแรง แน่นอน ตรง เข้ม ไม่ประนีประนอม และเอาชนะ
          - เส้นโค้งน้อย หรือเส้นเป็นคลื่นน้อยๆ ให้ความรู้สึกสบาย เปลี่ยนแปลงได้ เลื่อนไหลต่อเนื่อง มีความกลมกลืน ในการเปลี่ยนทิศทาง ความเคลื่อนไหวช้าๆ สุภาพ นุ่ม อิ่มเอิบ แต่ถ้าใช้เส้นลักษณะนี้มากเกินไป จะให้ความรู้สึกกังวล เรื่อยเฉื่อย ขาดจุดหมาย
          - เส้นโค้งวงแคบ เปลี่ยนทิศทางรวดเร็ว มีพลังเคลื่อนไหรุนแรง
          - เส้นโค้งของวงกลม การเปลี่ยนทิศทางที่ตายตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ให้ความรู้สึกเป็นเรื่องซ้ำๆ เป็นเส้นโค้ง ที่มีระเบียบ มากที่สุด แต่จืดชืดไม่น่าสนใจ เพราะขาดความเปลี่ยนแปลง
          - เส้นโค้งก้นหอย ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวคลี่คลาย เติบโต เมื่อมองจาก ภายในออกมา และถ้ามองจากภายนอกเข้าไป จะให้ความรู้สึกที่ไม่สิ้นสุดของ พลังเคลื่อนไหว
          - เส้นฟันปลา หรือเส้นคดที่หักเหโดยกะทันหัน เปลี่ยนทิศทางรวดเร็วมาก ทำให้ประสาทกระตุก ให้จังหวะกระแทก รู้สึกถึงกิจกรรมที่ขัดแย้งและความรุนแรง
     ความหมายของเส้น
        ความรู้สึกที่เกิดจากทิศทางของเส้น
          เส้นทุกเส้นมีทิศทาง คือ ทางตั้ง ทางนอน และทางเฉียง ในแต่ละทิศทางจะให้ความรู้สึกต่างกัน
          1. เส้นตั้ง ให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง พุ่งขึ้น จริงจัง เงียบขรึม และให้ความสมดุล เป็นสัญลักษณ์ของความถูกต้อง ซื่อสัตย์ มีความสมบูรณ์ในตัว สง่า ทะเยอทะยาน และรุ่งเรือง
          2. เส้นนอน ให้ความรู้สึกพักผ่อน ผ่อนคลา เงียบ เฉย สงบ
          3. เส้นเฉียง เป็นเส้นที่อยู่ระหว่างเส้นตั้งกับเส้นนอน ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว ไม่มั่นคง ไม่สมบูรณ์ ต้องการเส้นเฉียงอีกเส้นหนึ่งมาช่วยให้มั่นคงสมดุลในรูปของมุมฉาก
          4. เส้นที่เฉียงและโค้ง ให้ความรู้สึกที่ขาดระเบียบตามยถากรรม ให้ความรู้สึกพุ่งเข้าหรือพุ่งออกจากที่ว่าง

5.3.1.3 รูปร่างและรูปทรง (shape and form)
     1 รูปร่าง (shape) เกิดจากการนำเส้นตรง และเส้นโค้งมาประกอบเข้าด้วยกันจนเป็นรูป รูปร่างประกอบด้วยด้าน 2 ด้าน คือ ด้านกว้างและด้านยาว เรียกว่ารูป 2 มิติ รูปร่างมีเฉพาะพื้นผิวหน้าของรูปเท่านั้น ไม่มีส่วนลึกส่วนหนา รูปร่างมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น
          - รูปร่างตามธรรมชาติ (organic shape) เป็นรูปร่างที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
          - รูปร่างเรขาคณิต (geometric shape) เป็นรูปร่างที่ประกอบด้วยเส้นตรงและเส้นโค้ง เช่น รูปครึ่งวงกลม รูปวงกลม รูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยม รูปห้าเหลี่ยม เป็นต้น
          - รูปร่างอิสระ (free shape) เป็นรูปร่างต่งๆ ที่นอกเหนือจากรูปร่างตามธรรมชาติและรูปร่างเรขาคณิต

          จากวิชาเรขาคณิตรูปที่เรียบง่ายที่สุดคือ รูปวงกลม รูปสามเหลี่ยม และรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
          รูปวงกลม คือ จุดเป็นจำนวนมากเรียงตัวโดยมีระยะห่างเท่าๆ กันรอบจุดหนึ่ง วงกลมเป็นรูปที่รวมเป็นจุดศูนย์กลาง (centralized) และเป็นรูปที่จบในตัวเอง เมื่อวางวงกลมให้อยู่ในศูนย์กลางบริเวณจะยิ่งเน้นให้เกิดความรู้สึกมุ่งสู่ศูนย์กลาง และเมื่อประกอบวงกลมกับรูปทรงตรง หรือเป็นเหลี่ยม หรือใส่องค์ประกอบอื่นตามแนวรอบวง จะทำให้เกิดความรู้สึกถึงการหมุน
          รูปสามเหลี่ยม เป็นตัวแทนความเสถียร (stability) และจะเสถียรอย่างยิ่งเมื่อตั้งบนด้านใดด้านหนึ่ง หากตั้งบนจุดยอดจะเป็นได้ทั้งสถานะสมดุลอย่างล่อแหลม หรือสถานะไม่เสถียร ซึ่งมักจะให้ความรู้สึกล้มคว่ำไปด้านใดด้านหนึ่ง
          รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นรูปที่บอกถึงความบริสุทธิ์มีเหตุผล เป็นรูปที่หยุดนิ่ง (static) และเป็นกลางจะไม่แสดงทิศทางด้านใดด้านหนึ่อย่างชัดเจน ส่วนรูปสี่เหลี่ยมอื่นๆ อาจถือได้ว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงไปจากสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยการเพิ่มส่วนสูง ส่วนกว้าง และเช่นเดียวกับสามเหลี่ยม เมื่อตั้งบนด้านใดด้านหนึ่งจะรู้สึกเสถียรและจะมีพลังเคลื่อนไหว (dynamic) เมื่อตั้งบนมุมใดมุมหนึ่ง

Colour_spectrum2 รูปทรง (form) หมายถึงโครงสร้างของสิ่งต่างๆ ประกอบด้วยด้าน 3 ด้าน คือด้านกว้าง ด้านยาว และด้านหนา เป็นรูป 3 มิติ รูปทรงสามารถวัดขนาดและปริมาตรได้ รูปทรงมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น
     - รูปทรงธรรมชาติ (organic form) ได้แก่รูปทรงที่เหมือนวัตถุจริงในธรรมชาติ
     - รูปทรงเรขาคณิต (geometric form) ได้แก่รูปทรงกลม รูปทรงวงรี รูปทรงสามเหลี่ยม หรือรูปทรงเหลี่ยมอื่นๆ เป็นต้น
     - รูปทรงอิสระ (free form) ได้แก่รูปทรงอื่นๆ ที่ไม่เข้าข่ายรูปทรงธรรมชาติและรูปทรงเรขาคณิต ในงานตกแต่งนิยมใช้รูปทรงทั้งสามชนิดในอัตราที่พอเหมาะ แต่ถ้าใช้รูปทรงเหล่านี้มากเกินไปจะขาดจุดเด่น มองดูซับซ้อนยุ่งเหยิง

ความรู้สึกต่อรูปทรงต่างๆ
          รูปทรงกลม (sphere) เป็นรูปทรงที่เป็นศูนย์กลางของตนเอง มองดูเสถียร เมื่อวางบนพื้นลาดเอียงจะเกิดการเคลื่อนที่แบบหมุน
          รูปทรงกระบอก (cylinder) มีแกนเป็นศูนย์กลางถ้าตั้งบนผิวหน้าวงจะรู้สึกเสถียร และจะไม่เสถียรเมื่อแกนกลางเอียงไป
          รูปทรงกรวย (cone) เมื่อตั้งบนฐานวงกลมจะเสถียรมาก หากแกนดิ่งเอียงหรือล้มจะไม่เสถียรแต่ถ้าตั้งบนจุดยอดจะมีสถานะสมดุลได้
          รูปทรงปิระมิด (pyramid) มีคุณสมบัติคล้ายรูปทรงกรวย โดยที่รูปทรงกรวยจะมีลักษณะนุ่มนวล (soft) แต่รูปทรงปิระมิดมีลักษณะที่กระด้าง (hard) และเป็นเหลี่ยมมุม
          รูปทรงลูกบาศก์ (cube) เป็นรูปทรงที่มีสี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่ากันหกหน้า มีขอบยาวเท่ากัน 12 ขอบ รูปทรงลูกบาศก์เป็นรูปทรงที่เสถียร ไร้ทิศทางและการเคลื่อนไหว

5.3.1.4 ลักษณะผิว (texture)
          ลักษณะผิว หมายถึง ลักษณะของบริเวณพื้นผิวของสิ่งต่างๆ เมื่อสัมผัสจับต้องหรือมองเห็นแล้วรู้สึกได้ว่าหยาบ ละเอียด เป็นมัน ด้าน ขรุขระ เป็นเส้น เป็นจุด เป็นกำมะหยี่ เป็นต้น ลักษณะผิวของวัสดุที่ใช้ในงานศิลป์ความสำคัญต่อความงามในด้านสุนทรียภาพ ลักษณะผิวจะมีความหมายทั้งในด้านการสัมผัสโดยตรงและจากการมองเห็น ทำให้เกิดความสุขทั้งทางกายและทางใจ ลักษณะผิวของงานศิลป์ อาจจะเป็นลักษณะผิวตามธรรมชาติ สามารถจับต้องได้ เช่น ลักษณะผิวของกระดาษทราย ผิวส้ม หรือลักษณะผิวที่ทำเทียมขึ้น ซึ่งเมื่อมองดูจะรู้สึกว่าหยาบหรือละเอียด แต่เมื่อสัมผัสจับต้องกลับกลายเป็นพื้นผิวเรียบๆ เช่น วัสดุสังเคราะห์ที่ทำลักษณะพื้นผิวเป็นลายไม้ ลายหิน เป็นต้น
          ลักษณะผิวที่เรียบและขรุขระจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ลักษณะผิวที่เรียบจะให้ความรู้สึกลื่น คล่องตัว รวดเร็ว ส่วนลักษณะผิวที่ขรุขระ หยาบ หรือเน้นเส้นสูงต่ำ จะให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง

5.3.1.5 ลวดลาย (pattern) 
          ลวดลายในแต่ละสิ่งล้วนแตกต่างกันมากมาย มีทั้งลวดลายที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ลายไม้ หรือลายที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เช่น ลวดลายบนผ้าบนกระดาษ หรือลวดลายในการปรุงแต่งจัดลักษณะพื้นผิวให้เกิดความสวยงามบนทางเท้า เหล่านี้เป็นต้น
          ซึ่งการสร้างลวดลายจะสร้างนผิวพื้นให้เป็นรูปต่างๆ ตามความนิยม โดยที่การจัดลวดลายนี้ ถ้าหากวัสดุนั้นมีลวดลายน้อยเกินไปก็จะดูไม่น่าสนใจ แต่ถ้ามีมากเกินไปก็จะดูยุ่งเหยิง วุ่นวาย

5.3.1.6 สี (colour)
          สีเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ สีมีอยู่ในแสงแดดเป็นคลื่นแสงชนิดหนึ่ง จะปรากฏให้เห็นเมื่อแสงแดดผ่านละอองไอน้ำในอากาศ เกิดการหักเหเป็นสีรุ้งบนท้องฟ้า 7 สี คือ แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน ม่วงน้ำเงิน (คราม) และม่วง หรือให้แสงแดดส่องผ่านแท่งแก้วสามเหลี่ยม (prism) ก็จะแยกสีออกมาให้เห็นเป็นสีรุ้งเช่นกัน  สีเป็นองค์ประกอบหนึ่งของงานศิลป์ที่มีความหมายมาก เพราะสีช่วยให้เกิดคุณค่าในองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การใช้สีให้เกิดรูปร่าง การใช้สีให้เกิดจังหวะ หรือการใช้สีแสดงลักษณะของพื้นผิว นอกจากนี้การใช้สียังมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ สีแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
     1. สีที่เป็นแสง (spectrum) เป็นสีที่เกิดจากการหักเหของแสง
     2. สีที่เป็นวัตถุ (pigment) เป็นสีที่มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป เช่น ในพืช ในสัตว์ เป็นต้น
Colour_primaries

สีที่เป็นวัตถุ (pigment) แบ่งออกเป็น
     1. แม่สี หรือสีขั้นต้น (primary colours) มี 3 สี คือ สีเหลือง สีแดง และสีน้ำเงิน แม่สีทั้ง 3 สี เป็นสีที่ไม่สามารถผสมขึ้นมาได้ แต่สามารถผสมเข้าด้วยกันเป็นสีอื่นๆ ได้
     2. สีขั้นที่สอง (secondary colours) มี 3 สี เกิดจากการนำแม่สีทั้ง 3 มาผสมกันเข้าทีละคู่ก็จะได้สีออกมาดังนี้
               สีเหลือง + สีแดง > สีส้ม
               สีเหลือง + สีน้ำเงิน > สีเขียว
               สีแดง + สีน้ำเงิน > สีม่วง
     3. สีขั้นที่สาม (tertiary colours) เป็นสีที่ได้จากการนำสีขั้นที่ 2 ผสมกับแม่สีทีละคู่ ก็จะได้สีเพิ่มขึ้นอีก 6 สี คือ ส้มเหลือง ส้มแดง เขียวเหลือง เขียวน้ำเงิน ม่วงแดง ม่วงน้ำเงิน
     4. สีกลาง (neutral colour) เป็นสีที่เกิดจากการนำเอาสีทุกสีผสมรวมกันเข้า หรือเอาแม่สีทั้ง 3 สี รวมกัน ก็จะได้สีกลาง ซึ่งเป็นสีเทาแก่ๆ เกือบดำ
colorwheel

วงล้อสี (colour wheel)
จากสี 12 สี ในวงล้อจะแบ่งออกเป็น 2 วรรณะ คือ
     - วรรณะสีอุ่น (warm tone) ได้แก่ สีเหลือง (ครึ่งหนึ่ง) ส้มเหลือง ส้ม ส้มแดง แดง ม่วงแดง และม่วง (ครึ่งหนึ่ง)
     - วรรณะสีเย็น (cool tone) ได้แก่สีเหลือง (อีกครึ่งหนึ่ง) เขียวเหลือง เขียว เขียวน้ำเงินน้ำเงิน ม่วงน้ำเงินและม่วง (อีกครึ่งหนึ่ง)
          สำหรับสีเหลืองและสีม่วงนั้น เป็นสีที่อยู่ในวรรณะกลางๆ หากอยู่ในกลุ่มสีอุ่นก็จะอุ่นด้วย แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มสีเย็นก็จะเย็นด้วย

คู่สี (complementary colours)
          สีที่อยู่ตรงข้ามกันในวงล้อสีจะเป็นคู่สีกัน ถ้านำมาวางเรียงกันจะให้ความสดใส ให้พลังความจัดของสีซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการตัดกันหรือขัดแย้งกันอย่างมาก คู่สีนี้จะเป็นสีที่ตัดกันอย่างแท้จริง (true contrast) การใช้สีที่ตัดกันจะต้องพิจารณาดังนี้
     - ปริมาณของสีที่เกิดจากการตัดกันจะต้องไม่เกิน 10% ของพื้นที่ทั้งหมดในภาพ
     - การใช้สีตัดกันต้องมีสีใดสีหนึ่ง 80% และอีกสีหนึ่ง 20% โดยประมาณ
     - ถ้าหากต้องใช้สีคู่ตัดกัน โดยมีเนื้อที่เท่าๆ กัน จะต้องลดความเข้มของสี (intensity) ของสีใดสีหนึ่ง หรือทั้งสองสีลง

สีข้างเคียง (analogous colours)
     เป็นสีที่อยู่เคียงกันในวงล้อสี เช่น สีเหลืองกับส้มเหลือง สีทั้ง 2 จะดูกลมกลืนกัน (harmony) สีที่อยู่ห่างกันออกไป ความกลกลืนก็จะค่อยๆ ลดลง ความขัดแย้ง หรือความตัดกันก็จะเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นคู่สี หรือสีตัดกันอย่างแท้จริงเมื่อห่างกันจนถึงจุดตรงข้ามกัน

การใช้ส
          การใช้สีมีอยู่ 2 วิธี คือ การใช้สีให้กลมกลืน(harmony) หรือตัดกัน(contrast) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการใช้งาน แต่ละลักษณะ การใช้สีให้ดูกลมกลืนมากเกินไปก็จะจืดชืด น่าเบื่อ แต่ถ้าใช้สีตัดกันมากเกินไปก็จะเกิดการขัดแย้งสับสนได้
จิตวิทยาของสี (colour phychology) คือการที่สีมีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์
     - สีแดง สีแห่งการโฆษณาชวนเชื่อ ตื่นเต้น เร้าใจ
     - สีแดงอ่อน ความประณีต ความเยือกเย็น ความหวาน ความสุข
     - สีแดงเข้ม มีอุดมคติสูง ยิ่งใหญ่ สมบูรณ์
     - สีชมพู สีแห่งความเป็นหนุ่มสาว สีแห่งความรัก ความมั่นใจ
     - สีน้ำเงิน สีแห่งความเชื่อมั่น หนักแน่น สุภาพ ถ่อมตน
     - สีฟ้าอ่อน สีที่าบรื่น ร่มเย็น
     - สีเหลือง สว่างสดใส ร่าเริง รู้สึกมีรสเปรี้ยว
     - สีแสด ตื่นตัวเร้าใจ สนุกสนาน
     - สีม่วง สีแห่งความผิดหวัง ไม่เชื่อมั่น ไม่แน่นอน เศร้า
     - สีเขียวอ่อน สดชื่น ร่าเริง เบิกบาน
     - สีเขียวแก่ เศร้า ชรา เบื่อหน่าย
     - สีดำ ทุกข์ เสียใจ
     - สีน้ำตาล อับทึบ
     - สีเทา เงียบสงัด ขรึม สุภาพ

5.3.1.7 ช่องว่าง หรือช่วงระยะ (space)
ช่องว่าง หรือช่วงระยะ มีความหมายดังนี้
     - ปริมาตรที่รูปทรงกินเนื้อที่อยู่
     - อากาศที่โอบรอบรูปทรง
     - ระยะห่างระหว่างรูปทรง (ช่องไฟ)
          ดังนั้นคำว่าช่องว่างนี้ หมายถึง ที่ที่ทำให้เกิดรูปร่างและที่ที่เรามองไม่เห็นว่าเป็นรูปร่าง ในการเขียนภาพใดภาพหนึ่ง ภาพที่เขียนก็คือ ช่องว่างและบริเวณรอบๆ ของภาพก็คือช่องว่างเช่นกัน ช่อว่างประเภทแรกเป็นช่องว่างที่ตัวของวัตถุเอง เรียกช่องว่างนี้ว่า positive space ส่วนช่องว่างรอบๆ ตัววัตถุเรียกว่า negative space ในการเขียนตัวหนังสือ space ก็คือช่องไฟ ช่องว่างทั้ง positive space and negative space นี้จะต้องสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ช่องว่างหรือช่วงระยะนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกหลายๆ อย่าง เช่น ความใกล้ ความไกล ความต่อเนื่อง หรือความขาดตอนกัน

5.4 หลักศิลปะในการออกแบบสวน
          การจัดสวนที่มีความสวยงาม ควรใช้หลักของศิลปะเข้ามาช่วยในการจัด ซึ่งนับเป็นหัวใจและเป็นรากฐานสำคัญในการออกแบบเบื้องต้น ซึ่งความรู้ทางด้านศิลปะนี้ผู้ใช้จะต้องทราบและเก็บส่วนละเอียดปลีกย่อยทั้งหมดเอาไว้ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมต้องนำความรู้เหล่านี้ออกมาใช้ได้ทันที ศิลปะเกี่ยวกับการจัดสวนมีพื้นฐานคล้ายคลึงกับศิลปะด้านอื่นๆ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่แตกต่างออกไป ตามความเหมาะสมสามารถแบ่งได้ดังนี้
5.4.1 ความกลมกลืน (Unity)
          ลักษณะความกลมกลืนกันภายในสวนขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ของสวน อาคารสถานที่และต้นไม้ที่ใช้ปลูก ความกลมกลืนในการจัดสวนแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ ดังนี้
          1.1 ความกลมกลืนในลักษณะพฤกษศาสตร์ คือ ความกลมกลืนของต้นไม้ในลักษณะของรูปทรงของลำต้นและลักษณะของใบ เมื่อนำมาปลูกไว้ในกลุ่มเดียวกันย่อมมีความกลมกลืนกัน   
          1.2 ความกลมกลืนลักษณะของวัตถุ ได้แก่ ความกลมกลืนของวัตถุที่ใช้ในการจัดสวนซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น หินที่นำมาตกแต่งภายในสวนต้องเป็นหินที่ได้มาจากแหล่งเดียวกัน มีสีเหมือนกัน ย่อมกลมกลืนกัน เป็นต้น
          ลักษณะของพื้นที่ของสวน ได้แก่ รูปแบบของพื้นที่ทั่วไปในสวน เช่น รูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยมแบบต่างๆ นับเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดลักษณะของสวนได้ ส่วนอาคารสถานที่มีรูปแบบแตกต่างกันออกไป เช่น อาคารในยุคสมัยเก่า อาคารในยุคสมัยใหม่ เป็นต้น ต้นไม้ที่ใช้ปลูกควรเลือกให้ถูกชนิดตามความเหมาะสมกับลักษณะของพื้นที่และตัวอาคาร สวนในสมัยเก่าจะมีลักษณะเรียบง่าย เนื่องจากมีวัสดุจำนวนจำกัดและมีจุดมุ่งหมายไปในทางเดียวกัน แต่ปัจจุบัน การจัดสวนในบ้านหรืออาคารสถานที่ต่างๆ มีความต้องการและมีจุดมุ่งหมายมากกว่าเดิม จึงต้องเลือกวัสดุที่มีอยู่มากให้เข้ากันหรือกลมกลืนกันกับลักษณะของสวน รวมทั้งเข้ากับพรรณไม้ต่างๆ ดังนั้นผู้จัดสวนควรรู้จักพรรณไม้และวัสดุต่างๆ ที่นำมาใช้ในการจัดสวนอย่างแท้จริง เพื่อหาความกลมกลืนให้ได้ภายในสวน

5.4.2 เวลา(Time) และ สัดส่วน(Scale)
     เวลา (Time)
          ระยะเวลาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การออกแบบจัดสวนแตกต่างจากศิลปะด้านอื่นๆ เพราะงานศิลปะทางด้านจิตรกรรมหรือประติมากรรม เมื่อทำตามรูปแบบที่วางไว้ก็ถือว่าเสร็จสมบูรณ์ แต่ศิลปะทางด้านการจัดสวนอาจใช้เวลานานนับสิบปีเพื่อการตัดแต่งหรือรอคอยให้ต้นไม้มีรูปร่างที่สมบูรณ์ตามแบบที่ผู้ออกแบบได้คิดภาพไว้ ดังนั้นงานด้านการจัดสวนไม่ใช่ช่างฝีมือต้องทำได้ทุกคน แต่คนที่มีความรู้ทางด้านศิลปะก็สามารถทำได้และยิ่งมีความรู้ในเรื่องของธรรมชาติของต้นไม้ สามารถเลือกใช้ชนิดของต้นไม้และปลูกตามวิธีการที่ถูกต้อง และมีความอดทนเพียงพอที่จะรอชมผลงานดังที่ได้ตั้งไว้ แม้จะใช้ระยะเวลานานก็ตาม
     สัดส่วน (Scale)
          สัดส่วน หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนหนึ่งกับอีกส่วนหนึ่ง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างความสูงและความกว้างของต้นไม้หรือวัตถุต่างๆ ที่นำมาใช้ในการตกแต่งภายในสวน
          การจัดสวนเพื่อให้เกิดสัดส่วนที่ถูกต้องและสมบูรณ์ ควรพิจารณาเลือกต้นไม้หรือวัตถุที่มีลักษณะและขนาดที่แตกต่างกัน เช่น อ้วน ผอม สูง ต่ำ เป็นต้น การจัดวางวัสดุและต้นไม้ต้องวางให้ถูกตำแหน่ง โดยวางเป็นกลุ่มบ้าง ห่างกันบ้าง ชิดกันบ้าง เมื่อมองดูแล้วจะเหมือนกับการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ การจัดสัดส่วนในการจัดสวนให้ได้จังหวะที่ดีและสวยงามนั้นให้เปรียบสัดส่วนในการจัดสวนเหมือนกับการตกแต่งภายในบ้าน ถือว่าสวนเป็น 1 ห้อง ทุกครั้งที่จัด มีองค์ประกอบ 3 อย่างดังนี้
          1) เพดานของห้องหรือแปลนบน (Overhead Plane) ได้แก่ ท้องฟ้า เรือนยอดของต้นไม้ หลังคา ชายคา เรือนระแนง
          2) ผนังของห้องหรือแปลนตั้ง(Vertical space divider) ได้แก่ ผนัง รั้ว ต้นไม้  พุ่มไม้
          3) พื้นห้องหรือแปลน (Base Plane) ได้แก่ ทราย น้ำ ดิน
การจัดสวนให้ได้ลักษณะที่ดีและน่าประทับใจจะขาดองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างไม่ได้เพราะจะทำให้ขาดความรู้สึกสมดุลและความเหมาะสมสูญหายไป

5.4.3 การแบ่งพื้นที่จัดสวน (Space Division) และเส้น (Line)
     การแบ่งพื้นที่จัดสวน (Space Division)
          รูปแบบของการจัดสวนมีผลเนื่องมาจากการแบ่งสัดส่วนระหว่างที่โล่งกับพื้นที่ทึบซึ่งแล้วแต่จะจัดให้มีสิ่งใดมากน้อยกว่ากัน
               - สิ่งที่โล่ง หมายถึง น้ำ ดิน หญ้า
               - สิ่งที่ทึบ หมายถึง ภูเขา ต้นไม้ อาคารสถานที่
               - การจัดสวนแต่ละแห่งมีการแบ่งเส้นระหว่างที่โล่งและที่ทึบต่างกัน
     เส้น (Line)
          เส้นเป็นพื้นฐานของโครงสร้างของทุกสิ่ง และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการออกแบบสิ่งต่างๆ เส้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความหมายต่างๆ แตกต่างกันออกไป ในการจัดสวนแต่ละครั้งจะต้องมีการใช้เส้นหลายชนิด เพื่อนำมาประกอบให้เข้ากับจุดมุ่งหมายของผู้ออกแบบ ซึ่งแต่ละจุดมุ่งหมายที่ใช้เส้นแตกต่างกันออกไป เส้นให้ความรู้สึกดังนี้
          1) เส้นตรงหรือเส้นที่ลากไปตามแนวนอนให้ความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย เงียบ พักผ่อน เฉย
          2) เส้นโค้ง หรือเส้นที่เป็นคลื่นน้อยๆ ให้ความรู้สึกสบาย เปลี่ยนแปลงได้ เลื่อนไหล ต่อเนื่อง มีความกลมกลืน ในการเปลี่ยนแปลงทิศทาง ความเคลื่อนไหวช้าๆ สุภาพนุ่ม อิ่มเอิบ  แต่ถ้าใช้เส้นลักษณะนี้มากเกินไป จะให้ความรู้สึกกังวล เรื่อยเฉื่อย ขาดจุดมุ่งหมาย
          3) เส้นโค้งวงแคบ เปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว มีพลังเคลื่อนไหวรุนแรง
          4) เส้นโค้งของวงกลม การเปลี่ยนทิศทางที่ตายตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ให้ความรู้สึกเป็นเรื่องซ้ำๆ เป็นเส้นโค้งที่มีระเบียบมากที่สุด แต่จืดชืดไม่น่าสนใจ เพราะขาดความเปลี่ยนแปลง
          5) เส้นโค้งก้นหอย ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวคลี่คลาย เมื่อมองจากภายในออกมาและถ้ามองจากภายนอกเข้าไปจะให้ความรู้สึกที่ไม่สิ้นสุด
          6) เส้นฟันปลาหรือเส้นซิกแซก ให้ความรู้สึกเปลี่ยนทิศทางรวดเร็วมาก ให้จังหวะกระแทก รู้สึกถึงการขัดแย้งและความรุนแรง
          7) เส้นตั้ง ให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง จริงจัง เงียบขรึม และให้ความสมดุลเป็นสัญลักษณ์ของความถูกต้อง ซื่อสัตย์ มีความสมบูรณ์ในตัว สง่า ทะเยอทะยานและรุ่งเรือง
          8) เส้นเฉียง ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว ไม่มั่นคง ไม่สมบูรณ์

     5.4.4 รูปร่าง(Spape) และรูปทรง(Form)
          รูปร่าง (Spape) เกิดจากการนำเส้นมาประกอบเข้าด้วยกันจนเป็นรูปร่าง รูปร่างประกอบด้วยด้าน 2 ด้าน คือ ด้านกว้างและด้านยาว เรียกว่ารูป 2 มิติ  ในการออกแบบสวนผู้ออกแบบต้องเป็นผู้ใช้ความสามารถในการจัดวางให้ทุกส่วนภายในสวนมีความสัมพันธ์กัน โดยต้องคำนึงถึงสัดส่วนหรือการแบ่งพื้นที่หรือสี เป็นต้น โดยปกติรูปร่างของสวนจะเป็นแบบรูปทรงเรขาคณิต และแบบธรรมชาติเท่านั้น

     5.4.5 ผิวสัมผัส(Texture) และ สี(Color)
          ผิวสัมผัส หมายถึง ลักษณะของบริเวณพื้นผิวของสิ่งต่างๆ เมื่อสัมผัสจับต้องหรือมองเห็นแล้วรู้สึกได้ว่าหยาบ ละเอียด เป็นมัน ด้าน ขรุขระ เป็นเส้น เป็นจุด เป็นกำมะหยี่ เป็นต้น ผิวสัมผัสแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ ผิวสัมผัสที่หยาบ และผิวสัมผัสที่ละเอียด

     5.4.6 ความสมดุล (Balance)
            ความสมดุล หมายถึง การวางจุดหรือการจัดจุดสนใจในลักษณะที่เกิดความถ่วง ซึ่งมีความสมดุลซึ่งกันและกัน หรือการจัดให้เกิดความถูกต้องกลมกลืน การทำให้เกิดความถ่วงแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ
          1) ความถ่วงแบบประดิษฐ์ (Formal balance) คือ การจัดวางวัสดุหรือต้นไม้ให้เกิดความถ่วงโดยใช้จุดสนใจที่เหมือนกัน ซึ่งสามารถพบเห็นโดยทั่วไป เริ่มต้นจากการกำหนดจุดศูนย์กลางหรือกำหนดเส้นไว้ก่อน แล้วจึงกำหนดจุดสนใจ ซึ่งอาจเป็นต้นไม้หรือวัสดุทั้งสองข้างและจุดสนใจต้องเป็นชนิดเดียวกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นชนิด ขนาด ลักษณะ และจำนวนทั้ง2 ข้างต้องเท่ากัน รวมทั้งระยะห่างจากจุดศูนย์กลางหรือเส้นจะต้องเท่ากันด้วย
          2) ความถ่วงแบบธรรมชาติ (Informal balance) คือ การจัดสวนเพื่อให้เกิดความถ่วงโดยใช้จุดสนใจที่ไม่เหมือนกัน อาศัยความชำนาญของสายตาพิจารณาลักษณะการวางต้นไม้หรือการวางวัสดุ โดยให้มีสีหรือน้ำหนักใกล้เคียงกัน  

5.5 ขั้นตอนการออกแบบแปลนสวน
          การออกแบบ (design process) จัดสวนมีขั้นตอนของการออกแบบเพื่อให้ผู้ออกแบบได้เข้าใจถึงสถานที่และจุดประสงค์ของเจ้าของ การออกแบบ จะเป็นเรื่องไม่ยากสําหรับผู้ที่คุ้นเคย กับงานทางด้านการออกแบบ แต่สําหรับผู้ที่เริ่มเรียนรู้และ ไม่ค่อยได้จับดินสอ วาดรูปก็จะเป็นการยาก ซึ่งการปฏิบัติเพื่อออกแบบจะยากกว่า การเรียนรู้ในเรื่องทฤษฎีอย่างมาก ในการออกแบบครั้งแรกอาจจะยุ่งยาก ติดขัด แต่ในครั้งต่อๆ ไป ก็จะเริ่มง่ายขึ้นเป็นลําดับ โดยทั่วไป หลักการในการออกแบบสวน มีขั้นตอนดังนี้
     5.5.1 สํารวจสถานที่ (site analysis)
เป็นการสํารวจหาข้อมูลของสถานที่ให้มากที่สุด ผู้ออกแบบจะต้องศึกษาสภาพภูมิประเทศของสถานที่นั้นๆ ข้อมูลที่ควรทราบ คือ
          1 สภาพภูมิอากาศ บริเวณนั้นมีอากาศร้อนหนาว แห้งแล้ง ชื้น มากน้อยเพียงใด ข้อมูลที่ได้จะทําให้สามารถเลือกใช้พรรณไม้ได้ถูกต้อง นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวส่วนไหนจะได้รับแสงสว่างมากน้อยอย่างไร ฝนตกชุกหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลในเรื่องการระบายนํ้าจากพื้นที่ ทิศทางลมเป็นอย่างไร ลมพัดแรงจนทําให้พรรณไม้เสียหายหรือไม่
          2 บริเวณพื้นที่ สภาพดินเป็นอย่างไร เป็นกรด ด่าง ดินเหนียว ดินร่วน หรือดินปนทราย ลักษณะพื้นที่สูงตํ่ามากน้อย จะต้องถมดินตรงไหน ขนาดของพื้นที่กว้างยาวเท่าไร อยู่บริเวณไหนของบ้าน
          3 ทิศ ทิศเหนืออยู่ทางไหน การรู้ทิศจะช่วยให้ทราบเรื่องแสงสว่างและทิศทางลม ซึ่งส่งผลในการกําหนดพรรณไม้และสิ่งอื่นๆ
          4 สิ่งก่อสร้าง ลักษณะอาคาร รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ในบริเวณนั้นเป็นลักษณะใด เพราะการออกแบบจัดสวนจะต้องให้กลมกลืน และเสริมให้อาคารสถานที่นั้นสวยงามเด่นสง่า รวมทั้งเกิดประโยชน์ใช้สอยอย่างเต็มที่
          5 พรรณไม้เดิม มีมากน้อยอยู่ในตําแหน่งใด รวมทั้งชนิดของพรรณไม้นั้นๆ ในการสํารวจสถานที่ ผู้ออกแบบอาจจะเขียนแปลนคร่าวๆ โดยรวมว่าตัวอาคาร บ้านและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ตั้งอยู่อย่างไรในบริเวณที่จะจัดสวน เพราะการจัดจะต้องมีความกลมกลืน   ระหว่างสวนกับบ้าน อาคารและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย ข้อมูลที่ได้จากการ สํารวจสถานที่จะนํามา หาความสัมพันธ์จากภายนอกสู่ภายใน และจากภายในอาคารสู่ภายนอก หาจุดเด่นในสวน ที่ภายในจะมองออกมาได้ชื่นชมความงามของสวน
     5.5.2 สัมภาษณ์เจ้าของสถานที่ (client analysis)
เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับความชอบ รสนิยม รวมทั้งงานอดิเรกต่างๆ ของสมาชิกในครอบครัว หรือสถานที่นั้นๆ ข้อมูลที่ได้จะโดยการสอบถาม สังเกต รวมทั้งการพิจารณาจากสภาพทั่วๆ ไป เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ
          - ลักษณะของสวน ชอบสวนแบบใด เป็นสวนธรรมชาติ สวนญี่ปุ่น หรือสวนนํ้า เป็นต้น
          - เวลาที่จะใช้ในการดูแลรักษาสวน มีมากน้อยเพียงใด เจ้าของบ้านชอบการทําสวนหรือไม่
          - สมาชิกในครอบครัวมีจํานวนเท่าใด เพศหญิง/ชาย เด็ก/ผู้ใหญ่ ต้องการทําที่เล่น สําหรับเด็กหรือไม่ สมาชิกในครอบครัวชอบเล่นกีฬา ทําสวน ทําอาหารนอกบ้านฯลฯ
          - ต้องการมุมสงบ เพื่อใช้พักผ่อนหรือไม่
          - แนวโน้มในอนาคตต้องการจะเปลี่ยนแปลงสถานที่เหล่านี้อย่างไร
          - รสนิยมเรื่องสี และวัสดุอื่นๆ เป็นอย่างไร
          - ความชอบเรื่องพรรณไม้ ในเรื่องของดอก สีดอกเป็นอย่างไร
          - งบประมาณที่จะใช้จัดสวนประมาณเท่าใด ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์จะทําให้รู้ถึงความต้องการของเจ้าของ
     5.5.3 วิเคราะห์ข้อมูล (data analysis)จากการสํารวจสถานที่และสัมภาษณ์ข้อมูลต่างๆ จากเจ้าของแล้ว นําข้อมูลทั้งหมดมาแยกเป็นส่วนๆ จัดเรียงลําดับความสําคัญ จากมากไปหาน้อย ข้อมูลความต้องการของเจ้าของอาจจะมีมากกว่างบประมาณ หรือไม่สัมพันธ์กับ แบบของสวน ก็อาจจะต้องเลือก สิ่งที่จําเป็นก่อน สิ่งใดที่มี ความจําเป็นน้อย หรือใช้สิ่งอื่นที่จําเป็นกว่าทดแทนได้ก็ตัดทิ้งไป ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จะช่วยให้การจัดสวน ตอบสนองความต้องการประโยชน์ใช้สอยของเจ้าของ แต่ในเรื่องความสวยงามจะเป็นหน้าที่ที่ ผู้ออกแบบ จะต้องเลือก ชนิดของพรรณไม้และองค์ประกอบอื่นๆ ให้สัมพันธ์กันเช่น ในครอบครัว มีคนชราซึ่งต้องการที่พักผ่อนเดินเล่น ก็จะต้องจัดสวน ให้มีทางเดินเท้าไปสู่จุดพักผ่อน มีสนามหญ้าให้ความสดชื่น หากมีเด็กเล็กก็ต้องการพื้นที่เล่นภายนอก ก็อาจจะต้องมีบ่อทราย ชิงช้า ไว้บริเวณ ใกล้บ้านและหากต้องการแปลงไม้ดอก แปลงพืชผักสวนครัว ก็จะต้องหาจุดที่ตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ ในเรื่องงบประมาณหากวิเคราะห์ข้อมูลคร่าวๆ แล้วจะเกินงบประมาณ ที่วางไว้ ก็อาจจะต้องหาสิ่งอื่นทดแทน ตามความเหมาะสม

5.6 หลักการออกแบบแปลนสวน
     1. หลักศิลปะในการออกแบบสวน เช่น ความกลมกลืนกัน รูปแบบของสวน เวลา สัดส่วน การแบ่งพื้นที่จัดสวน เส้น รูปร่าง ผิวสัมผัส สี หลักจิตวิทยาในการออกแบบแปลนสวน
     2. เครื่องมือ และการใช้เครื่องมือ สัญลักษณ์ ในการออกแบบแปลนสวน
          2.1 เครื่องมือเขียนแบบ
          2.2 หลักการเขียนแบบแปลนสวน
     3. ขั้นตอนการออกแบบแปลนสวน
          3.1 สำรวจสภาพพื้นที่
          3.2 สัมภาษณ์ข้อมูลจากเจ้าของสวน
          3.3 การเขียนแบบแปลนสวน รูปด้านบน - รูปด้านข้างหรือรูปทัศนียภาพ
          3.4 องค์ประกอบต่างๆในการออกแบบแปลนสวน

ขั้นตอนการออกแบบตามที่กล่าวมาแล้วจะช่วยให้ผู้ออกแบบทํางานได้ถูกต้องจากข้อมูล ต่างๆ ที่ร่างไว้ เมื่อเริ่มเขียนแปลน ก็จะเริ่มจากสิ่งต่างๆ ดังนี้
          1. กําหนดทางเดิน    ให้สอดคล้องทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร สังเกตทางเข้าออก ตัวบ้าน จัดวางทางเดิน ให้ได้โดยรอบตัวบ้าน จากหน้าบ้านไปหลังบ้าน จากหลังบ้านมาหน้าบ้าน ทางเดินไปจุดต่างๆ จัดให้ไหลเวียนไปโดยไม่ติดขัด จากโรงรถ ก็ควรจะมี ทางเดิน ไปหลังบ้านได้โดยไม่ต้องผ่านภายในบ้าน ทางเดินแต่ละจุด อาจเชื่อมต่อกัน โดยไม่ทําให้สนามหญ้าเสียไป และ ไม่ควรทํา ทางเดิน ที่ไร้จุดหมาย วัสดุที่ใช้ทําทางเดินขึ้นอยู่กับ วัตถุประสงค์ของการใช้งาน และรูปแบบของการจัดสวนนั้นๆ

          2. วางตําแหน่งไม้ต้น    เมื่อกําหนดทางเดินภายในสวนแล้ว งานต่อไปคือวางตําแหน่ง ไม้ต้น เพราะไม้ต้นจะเป็นไม้ใหญ่มีระดับสูงสุด และเป็นไม้ที่ให้ร่มเงาในจุดต่างๆ ตําแหน่งที่ปลูกไม้ต้น ได้แก่ บริเวณรั้วรอบบ้าน จุดที่ต้องการร่มเงาใช้พักผ่อน ริมถนน ไปยัง ที่จอดรถ ด้านทิศตะวันตกของอาคาร ที่ใช้เป็นห้องพักฟ่อนรับแขก เหล่านี้ เป็นต้น   การจัดวางไม้ต้น ถ้าเป็น สวนแบบประดิษฐ์ มักจะปลูกเรียงแถวเป็นเส้นตรงตามแนวทางเดินที่กําหนดไว้ ถ้าเป็น สวนธรรมชาติ จะปลูกเป็นกลุ่ม 3-5 ต้น การปลูกไม้ต้นนี้อาจจะเป็นชนิดเดียวกัน หรือปลูกสลับกับไม้พุ่มก็ได้ การเลือกใช้พรรณไม้จะต้องระมัดระวัง เพราะ พรรณไม้ บางชนิดจะต้องการ การดูแลทําความสะอาดบริเวณนั้นๆ ค่อนข้างมาก เนื่องจากการทิ้งใบของพรรณไม้ หรือในกรณีที่มีโรคแมลงรบกวนมาก ก็ควรจะหลีกเลี่ยงไม่นํามาใช้ และตําแหน่งการใช้งานก็ควรจะพิจารณาเลือกพรรณไม้ให้ถูกต้อง

          3. กําหนดพื้นที่เพื่อประโยชน์ใช้สอยและความงาม เมื่อกําหนดทางเดิน และวางตําแหน่งต้นไม้แล้ว พื้นที่ส่วนที่เหลือจะต้องวิเคราะห์ดูว่า จุดไหน เหมาะสําหรับความต้องการอะไร โดยยืดหลักเรื่องประโยชน์ใช้สอยก่อน แล้วจึงตกแต่งให้เกิดความสวยงามตามมา เช่น บริเวณหลังบ้าน จะต้องใช้พื้นที่เป็น ส่วนบริการ ใช้ซักผ้า ตากผ้า เก็บของ เหล่านี้ เป็นต้น ลานซักล้าง จะต่อเนื่องจาก ห้องครัว บริเวณพื้นต้องเป็นซีเมนต์ เมื่อกําหนดส่วนใช้สอยแล้วจึงพิจารณาพรรณไม้ประดับตกแต่ง ปิดบังส่วนที่ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นเห็น บริเวณใกล้ ห้องรับแขก ห้องพักผ่อน วางตําแหน่งจัดสวนหย่อม อาจจะทํานํ้าตก นํ้าพุหรือสระนํ้า เลี้ยงปลา ปลูกบัว เพื่อให้มองเห็นได้จากภายในสู่ภายนอก การจัดสวนหย่อม ควรมีเพียง 1-2 จุดเท่านั้น หากมีมากเกินไปจะทําให้ความเด่นของสวน ลดน้อยลง ส่วนพื้นที่อื่นๆ เช่น มุมพักผ่อน สนามเด็กเล่น แปลงไม้ดอก ควรจะ กําหนดลงไปพร้อมพรรณไม้และวัสดุอื่นๆ
การวางพรรณไม้ลงในจุดต่างๆ จะต้องพิจารณาเรื่องแสงประกอบด้วยเพราะพรรณไม้ที่ใช้ต้องการแสงสว่างมากน้อยต่างกัน ในจุดที่มีแสง เช่น ริมทางเดิน ถนน ควรเลือกใช้ไม้ต้นหรือไม้พุ่ม เช่น หูปลาช่อน เข็ม หรือจะเลือกใช้ไม้ดอก เช่น บานบุรี พวงทอง ช้องนาง ปลูกสลับกับ ไม้ต้น ก็ได้บริเวณมุมสนามระหว่างถนนกับระเบียง จุดนี้จะต้องมี การจัดวาง พรรณไม้ เพื่อเพิ่มความสวยงาม ลดความกระด้างของแนวถนน การจัดวางพรรณไม้อาจจะใช้ไม้ตระกูลปาล์มร่วมกับไม้คลุมดิน หรือไม้พุ่ม ก้อนหินร่วมกับ ไม้คลุมดิน ก็ได้
          ในกรณีที่เจ้าของสถานที่ต้องการปลูกไม้ผลและทําสวนครัว ก็ควรจะกําหนดจุดนี้ไว้ บริเวณหลังบ้านที่ได้รับแสงแดดจัด มีไม้ผลบางชนิด เช่น สาเก ละมุดสีดา ซึ่งสามารถนํามาปลูกตกแต่งบริเวณบ้านได้
          ในการออกแบบจัดสวน หากมีพื้นที่มากพอควรทําสนามหญ้าด้วย เพราะสนามหญ้าจะช่วยให้สวนนั้นสวยงามยิ่งขึ้น บริเวณพื้นที่ที่ทําสนามหญ้า ควรเป็นด้านหน้าซึ่งได้รับแสงแดดเต็มที่ รูปแบบของสนามหญ้าจะเป็นรูปใดขึ้นอยู่กับชนิดของสวนนั้นๆ
          การจัดสวนก็คล้ายกับการเขียนภาพสี ซึ่งภาพที่ออกมาจะสวยงามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจัดวางสิ่งต่างๆ รู้จักธรรมชาติของพรรณไม้ รวมถึงสีสัน ทรงต้น ตลอดจนการดูแลรักษาพรรณไม้เหล่านั้น การออกแบบสวนที่สวยงามจะต้องมีความเป็นระเบียบไม่ว่าจะเป็น สวนแบบประดิษฐ์ หรือ สวนแบบธรรมชาติ มีจุดเด่นไม่มากเกินไป มีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างจุดต่างๆ ตลอดจนให้ประโยชน์ใช้สอยในพื้นที่นั้นๆ ได้ตามความต้องการการออกแบบแต่ละครั้ง ถ้าหากผู้ออกแบบได้ศึกษาหาข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน ทราบปัญหาทุกอย่างในสถานที่นั้นๆ แล้ว แบบที่ออกมาจะมีโอกาสใช้ได้เป็นที่น่าพอใจถึง 80 เปอร์เซ็นต์ การออกแบบที่ดีควรให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบน้อยที่สุด เมื่อนําไปใช้จัดสวนจริงๆ เพราะในขณะทํา การจัดสวน ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงแบบมากเกินไป ก็จะทําให้ ความเชื่อถือลดน้อยลง

ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการออกแบบสวน
          การออกแบบแต่ละครั้งแม้จะดีที่สุด แต่บ่อยครั้งพบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบบ้างบางส่วน ข้อผิดพลาดที่ทําให้ต้องเปลี่ยนแปลงแบบเกิดจากพรรณไม้ องค์ประกอบและสิ่งก่อสร้างในสวน รวมทั้งโครงสร้างของสวน
          - พรรณไม้ ข้อผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นเป็นเพราะไม่ได้ศึกษารายละเอียดของพรรณไม้นั้น ทําให้วางตําแหน่ง การปลูกผิดพลาด ทั้งตําแหน่งที่ปลูก ระยะปลูก บางครั้งจํานวน พรรณไม้ ที่ระบุไว้ในแบบมาก ทําให้ไม่สามารถ จะหาได้เพียงพอ เหล่านี้ เป็นต้น นอกจากนี้ การจัดกลุ่มพรรณไม้ เข้าด้วยกันจะต้องคํานึงถึง หลักของศิลปะ ที่จะต้อง พิจารณาความสมดุล ความกลมกลืน ลักษณะพื้นผิว รวมทั้งความสูงและการเจริญเติบโตของพรรณไม้แต่ละชนิดด้วย การจัดสวนเลียนแบบธรรมชาติ จะต้องจัดหาพรรณไม้ที่ให้บรรยากาศของป่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องใช้การสังเกต และอาศัยระยะเวลาใน การสะสมประสบการณ์ซึ่งจะช่วยให้ การออกแบบจัดสวน ในครั้งต่อๆ ไปดียิ่งขึ้น
          - องค์ประกอบและสิ่งก่อสร้างในสวน การจัดสวนนอกจากจะใช้พรรณไม้ต่างๆ แล้วยังมีองค์ประกอบและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เช่น หิน ตอไม้ โอ่ง ไห รูปปั้น สระนํ้า นํ้าพุศาลาพัก ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะมีให้เลือกมากมายหลายชนิด ราคาก็แตกต่างกัน ผู้ออกแบบที่รู้จักวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้มาก รู้แหล่งใน การจัดซื้อก็สามารถจัดหา นํามาใช้ประกอบ การจัดสวน ได้มากขึ้น ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับว่ารู้รายละเอียดของสิ่งนั้นๆ เพียงใด รู้ขนาด ความเหมาะสมใน การนํามาใช้ประกอบ การจัดสวน ตลอดจนรู้ราคาและความยากง่ายในการจัดซื้อ หากออกแบบไว้แล้วไม่สามารถจัดหาได้ แบบแปลนนั้นก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
          - โครงสร้างของสวน การจัดสวนที่สวยงามนอกจากการออกแบบดี พรรณไม้และองค์ประกอบเหมาะสมแล้ว โครงสร้างพื้นฐาน ก็เป็นสิ่งสําคัญ เพราะโครงสร้างของสวนก็เปรียบเสมือนฐานรากของสวน การศึกษาเรื่องวิธี การปลูกพรรณไม้ ตลอดจน การดูแลรักษา เป็นสิ่งจําเป็นสําหรับนักจัดสวน เพราะความรู้ต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้จัดเตรียมโครงสร้างของสวนได้ถูกต้อง ทั้งในส่วนของการเตรียมดิน เตรียมหลุมปลูกที่เหมาะสม พรรณไม้ต่างๆ ที่จัดลงไปก็จะเจริญเติบโตได้ดี ปัญหาใน การดูแลรักษา จะน้อยลง

          การจัดสวนแต่ละครั้งจะมีข้อผิดพลาดต่างๆ เกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็น ประสบการณ์ให้เกิด ความรู้ที่จะนําไป ดัดแปลง ใช้ในครั้งต่อๆ ไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ผู้ออกแบบจัดสวน จะให้ความเอาใจใส่ในเรื่องนี้มากหรือน้อย การจัดสวน เป็นทั้ง ศาสตร์และศิลปะ ซึ่งต้องอาศัยทั้งความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ ร่วมกัน

5.7 การตกแต่งบริเวณด้วยไม้ประดับ ( ความยาว 1.40 นาที )

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

     5.7.1 การจัดสวนภายในบ้านพักอาศัย
          การจัดสวนประดับเป็นส่วนหนึ่งของงานด้านภูมิทัศน์ ชึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม และมีผู้ความสนใจกับงานด้านนี้กันมาก เพราะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีกำลังถูกทำลายลง ดังนั้นมนุษย์จึงพยายามหาสิ่งทดแทน โดยการปลูกต้นไม้ หรือจัดสวนประดับตามบริเวณบ้านพักอาศัย การจัดถูมิทัศน์จึงเป็นการจัดสภาพแวดล้อม อันได้แก่ สิ่งก่อสร้าง ถนน ทางเท้า หินประดับหญ้า พรรณไม้ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆให้อยู่ในจุดหรือตำแหน่งที่เหมาะสม มีความผสมกลมกลืนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามน่าดู
p7      p5

          การจัดสวนภายในบ้านพักอาศัยจำเป็นต้องออกแบบให้เกิดประโยชน์ใช้สอยสูงสุด และให้สวยงามรับรูปทรงของบ้าน
โดยทั่วไปจะแบ่งพื้นที่บริเวณรอบบ้านเพื่อการจัดตกแต่งดังนี้
     1. บริเวณหน้าบ้าน ควรจัดเป็นสวนประดับที่มีสนามหญ้า พรรณไม้ หรืออาจใช้หินประดับ มีลำธาร น้ำพุ นำตก ไฟประดับ ฯลฯ ประกอบอยู่ด้วย
     2. บริเวณด้านข้างบ้าน ควรพิจารณาปลูกพรรณไม้ประดับที่ให้ร่มเงา เพื่อพรางแสงแดดหรือพรรณไม้ที่มีกลินหอม
     3. บริเวณหลังบ้าน ถ้ามีบริเวณบ้านกว้างพออาจออกแบบทำบ่อลำธาร น้ำตก สระว่ายน้ำ สนามกีฬา กรงเลี้ยงสัตว์ หลุมขยะ ราวตากผ้า แปลงปลูกผักสวนครัวไม้ผลหรืไม้ประดับยืนต้น

p4      p6

ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับการจัดสวนบ้าน
1. การเลือกพันธุ์ไม้ควรพิจารณาดังนี้
     1.1 เจริญเติบโตได้ดี ไม่มีโรคแมลงรบกวน หรือมีโรคแมลงรบกวนน้อย เช่น เข็มชนิดต่างๆ ไม้  ดัด-ไม้แคระ ปาล์มชนิดต่างๆ
     1.2 มีกลิ่นหอม เช่น พุด ราตรี จำปี จำปา กระดังงา การะเวก นางแย้ม แก้ว โมก
     1.3 ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ปลูกประดับเพื่อความสวยงาม แต่ในขณะเดียวกันก็อาจตัดใบหรือดอกไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกด้วย เช่น ปริก หมากเหลือง ปรง เตยหอม
     1.4 ไม่เป็นพิษหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ พรรณไม้ที่เป็นพิษหรือเป็นอันตราย เช่น อากาเว่ เข็มกุดั่น ลำโพง ฝิ่น
2. การปรับพื้นที่ ควรคำนึงถึงการระบายน้ำ กล่าวคือ ต้องปรับพื้นที่ให้น้ำระบายลงสู่ท่อระบายน้ำให้หมด อย่าให้น้ำไหลเข้าบ้านหรือมีน้ำขังอยู่ในพื้นที่สวน
3. สัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขและไก่ มักขุดคุ้ยหรือนอนทับต้นไม้ทำให้เสียหาย จึงไม่ควรเลี้ยงสัตว์หากเลี้ยงต้องทำกรงขังหรือจำกัดขอบเขตให้อยู่เฉพาะที่
4. หากตัวบ้นอยู่สูงกว่าพื้นที่ถนนภายในบ้านควรแต่งเนินดินให้สูงกว่าถนน (ใช้ผิวถนนเป็นที่ระบายน้ำ) จะทำให้สวนประดับและบ้านดูเด่นสวยงาม
5. ไม่ควรฉีดสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชบ่อยจนเกินไป เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้อาศัยฉนั้นจึงควรเลือกปลูกเฉพาะพรรณไม้ที่ไม่มีศัตรูรบกวน

     5.7.2 สวนไม้ประดับภายในอาคาร (Interior Landscaping)
         ในปัจจุบันต้นไม้เข้ามามีบทบาทเพื่อการประดับตกแต่งภายในบ้าน สำนักงาน อาคาร หรือศูนย์การค้าต่าๆ มากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากสภาวะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ธรรมชาติถูกทำลายมากขึ้น ความต้องการความสดชื่น และความสวยงามตาม ธรรมชาติ เพื่อทดแทนจึงมีความจำเป็น การนำพรรณไม้เข้ามาตกแต่งภายใน เป็นการดึงธรรมชาติให้เข้ามาอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น นอกจากนี้พรรณไม้ต่าง ๆ จะช่วยแก้ปัญหาบางประการของตัวอาคารได้ เช่น จะช่วยลดความกระด้างของมุมตึก ช่วยปิดบัง ส่วนที่ขาดความสวยงาม ช่วยแบ่งสัดส่วนของสถานที่ เหล่านี้ เป็นต้น
          การจัดสวนไม้ประดับภายในอาคาร เริ่มตั้งแต่ใช้ไม้กระถางเพียงกระถางเดียว จนถึงกลุ่มของไม้กระถาง หรือจะเป็น การจัดสวน ลงในพื้นที่ภายในอาคารก็ได้ แต่การใช้ไม้กระถางจะเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะสามารถยกย้ายเปลี่ยนแปลง และดูแลรักษา ได้ง่ายกว่าการจัดสวนลงในพื้นที่ แต่ การจัดสวน ลงในพื้นที่ จะมองดูเป็นธรรมชาติ มากกว่า การจัดสวนไม้ประดับ ภายในอาคาร โดยจัดลงในพื้นที่ที่กำหนดให้ อาคาร บ้าน หรือสำนักงานที่มีขนาดใหญ่ ในปัจจุบันนี้มักจะ ออกแบบให้มี พื้นที่ว่างภายใน เพื่อใช้ใน การจัดสวน ให้เกิดความสวยงามและนำเอาธรรมชาติเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตโดยการทำหลังคาโปร่งใส ให้แสงสว่างส่องลงมาถึง บริเวณพื้นที่จัดสวน อย่างไรก็ตามแสงที่ส่องลงมาถึงพื้นที่จะมากก็เพียงช่วงก่อนเที่ยง เที่ยงและหลังเที่ยงเท่านั้น ซึ่งอาคาร ยิ่งสูงมากขึ้น ช่วงเวลาของการได้รับแสงสว่างก็จะลดน้อยลง

การจัดสวน ลงในพื้นที่มีสิ่งสำคัญที่ต้องพิจาณาดังนี้
     1. ปริมาณของแสง พรรณไม้ทุกชนิดต้องการแสงสว่างในการเจริญเติบโต หากปริมาณของแสงไม่เพียงพอ ก็จะเกิดปัญหา เรื่อง พรรณไม้ ซึ่งไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ สวนจะสวยได้เพียง 2-3 เดือนแรกเท่านั้น
     2. การระบายน้ำ จากสวนภายในอาคารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะภายในอาคารซึ่งแสงสว่างมีน้อย การระเหยน้ำจากต้นไม้ จากพื้นดินย่อมน้อยตามไปด้วยหากการระบายน้ำไม่ดี ทำให้น้ำขังแฉะ พรรณไม้ที่ปลูกก็จะตายได้ ดังนั้นดินผสมที่ใช้ปลูกพรรณไม้ภายในอาคารจะต้องโปร่ง ซึ่งอาจจะใช้ดินผสมทราย ใบไม้ผุ และแกลบ ทั้งนี้ไม่ควรใช้ขุยมะพร้าว เพราะจะดูดซับความชื้นมาเกินไป
     3. การเลือกชนิดของพรรณไม้ จะต้องเหมาะสมกับสถานที่นั้น ๆ โดยพิจารณาเป็นจุดๆ ว่าจุดใดของพื้นที่ได้รับแสงมากหรือน้อย แล้วเลือกพรรณไม้ปลูกให้เหมาะสม เพื่อให้พรรณไม้นั้น ๆ สามารถเจริญงอกงามอยู่ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง
          การจัดสวนภายในอาคารโดยจัดลงในพื้นที่ควรจะพิจารณาความเรียบง่าย รวมทั้งดูแลรักษาไม่ยากนัก เช่น การจัดสวนกรวด สวนทราย หรือสวนญี่ปุ่น โดยใช้หินหรือองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น โอ่ง ไห ประกอบกับพรรณไม้เล็กน้อย ก็จะทำให้เกิดความสวยงาม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต้องเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ได้
          การจัดสวนไม้ประดับภายในอาคารด้วยไม้กระถาง การจัดสวนวิธีนี้เป็นที่นิยมทำกันมาก ในสถานที่ต่างๆ ทั้งในบ้าน สำนักงาน หรือสถานที่ราชการ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้มีการออกแบบจัดพื้นที่ให้มีการจัดสวนภายใน การนำไม้กระถางเข้ามาจัดวางภายในจะเป็นการนำธรรมชาติเข้ามาอยู่ร่วมกับมนุษย์ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ใช้สอยและจุดมุ่งหมายต่าง ๆ ได้
          การใช้พรรณไม้ภายในอาคารต่อความรู้สึ พรรณไม้ในอาคารจะให้ความรู้สึกในเรื่องความงาม การสัมผัส การมองเห็นและการได้กลิ่น ซึ่งความรู้สึกจะมีแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ยกตัวอย่างเช่น
               - พรรณไม้ประเภทอวบน้ำ (cactus and succulents) จะให้ความรู้สึกถึงความร้อนในพื้นที่แห้งแล้ง
               - พรรณไม้ประเภทปาล์ม กล้วยไม้ สับปะรดสี รวมทั้งไม้เถาจะให้ความรู้สึกถึงความสงบของพื้นที่ชายทะเลในเขตร้อนชื้นภายใต้แสงจันทร์ รวมไปถึงป่าที่มีแมลงและสัตว์ต่าง ๆ ได้
          การจัดสวนภายในอาคารส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับการมองเห็นและการสัมผัส ส่วนเรื่องของเสียงก็อาจจะใช้วิธีอัดเสียงของน้ำตก เสียงของนกของลมมาใช้เปิดฟังได้ ในเรื่องของกลิ่นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของพรรณไม้ที่เลือกใช้
          การใช้พรรณไม้ภายในอาคารในส่วนของสถาปัตยกรร การใช้พรรณไม้ภายในจะเข้ามามีส่วนในการเป็นฉากหรือแบ่งส่วนของพื้นที่ ลดความกระด้างของอาคารทำให้เกิดความเป็นส่วนตัว รวมทั้งปิดบังส่วนที่ไม่น่าดูของอาคารนั้น ๆ
          การใช้พรรณไม้ภายในอาคารในส่วนของวิศวกรร จุดมุ่งหมายของการจัดวางพรรณไม้ในส่วนของวิศวกรรมก็เพื่อจะควบคุมทางสัญจร (traffic) เสียง แสงและการถ่ายเทอากาศ ซึ่งพรรณไม้สามารถจะช่วยลดแสงบริเวณหน้าต่าง ลดเสียง และจัดวางกั้นแนวทางเดินไปสู่จุดต่าง ๆ ได้
          การใช้พรรณไม้ภายในอาคารในเรื่องความสวยงาม การใช้พรรณไม้เข้ามาตกแต่งภายในเพื่อความสวยงามเป็นเรื่องที่ทำกันมานานแล้ว และอาจจะเป็นเหตุผลเดียวที่นำพรรณไม้เข้ามาภายในอาคารก็เพื่อความสวยงามเท่านั้น ซึ่งการนำพรรณไม้เข้ามาจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้หรือสิ่งอื่นๆ ภายในห้องนั้นๆ ทั้งนี้การจัดวางกระถางพรรณไม้เพื่อความสวยงามจะต้องพิจารณาถึงหลักการออกแบบและองค์ประกอบของศิลปะทั้งเรื่งของความเรียบง่าย ความกลมกลืน ความสมดุล รวมทั้งเรื่องสี ผิวสัมผัส และรูปร่าง มาประกอบการจัดวางพรรณไม้ต่าง ๆ เหล่านั้น

ชนิดของพรรณไม้ที่นิยมใช้ประดับตกแต่งภายในอาคาร
          พรรณไม้ที่นำมาใช้ตกแต่งภายในบ้าน อาคารสถานที่ต่างๆ มีมากมายหลายชนิด มีทั้งไม้ที่มีรูปทรงตั้งขึ้นไปทางสูง (upright plants) ไม้ที่มีรูปทรงเป็นพุ่มเตี้ย (bushy plants) และไม้ที่มีรูปทรงแบบเลื้อยคลุม (trailing plants) ไม้ดังกล่าวจะต้องเป็นไม้ที่ต้องการแสงสว่างไม่มากนัก

ขนาดของพรรณไม้ภายในอาคาร
          พรรณไม้ที่ใช้ประดับตกแต่งภายในอาคาร  อาจจะใช้ปลูกประดับลงในพื้นที่ที่กำหนดไว้ หรือปลูกในกระถางแล้วนำมาวางตกแต่ง  ตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเป็นการปลูกในพื้นที่โล่ง ไม่มีหลังคา ก็สามารถเลือกใช้พรรณไม้ที่มีความสูงได้มากถึง 5 เมตร แต่ถ้าหากมีเพดานหรือหลังคาเตี้ย จะต้องเป็นพรรณไม้ที่สามารถตัดแต่งควบคุมความสูงได้โดยไม่เสียรูปทรง ส่วนไม้กระถางไม่ควรมีขนาดใหญ่มากเกินไป เพราะจะมีปัญหาเรื่องการขนย้ายเปลี่ยนแปลง และควรเลือกขนาดของต้นให้สมดุลกับชนิดและขนาดของภาชนะปลูก ขนาดของพรรณไม้ที่นิยมใช้
     ขนาดเล็ก ความสูงไม่กิน 0.50 เมตร
     ขนาดกลาง ความสูงไม่เกิน 1.20 เมตร
     ขนาดใหญ่ ความสูงไม่เกิน 2.00 เมตร
     ขนาดพิเศษ ความสูงตั้งแต่ 2.50-3.50 เมตร
     ซึ่งขนาดพิเศษนี้ จะใช้ในจำนวนที่น้อยและจัดวางไว้ตรงจุดที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงบ่อย
          การจัดวางพรรณไม พรรณไม้ที่จะนำมาวางประดับตกแต่งมีความสวยงามแตกต่างกัน มีทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ การจัดวางเพียงกระถางเดียวโดด ๆ จะไม่ก่อให้เกิดความสวยงาม ดังนั้นการจัดหมู่พรรณไม้จะทำให้เกิดความสวยงามเป็นธรรมชาติมากกว่า การจัดหมู่พรรณไม้ อาจใช้กระถางเดียวปลูกพรรณไม้หลายต้น หลายชนิด หรือจัดวางกระถางเดี่ยวหลายๆ กระถางรวมกัน หรือใช้กระถางฝังในถาดกรวด ถาดทราย
          ไม้กระถางที่นำเข้ามาตกแต่งภายในจะต้องมีการสับเปลี่ยนทุก 15-30 วัน ซึ่งจะทำให้สภาพของต้นไม้เจริญเติบโตแข็งแรง สวยงามอยู่ได้

การดูแลรักษาพรรณไม้ภายในอาคาร
          ในกรณีที่พรรณไม้ถูกนำไปวางในตำแหน่งที่ค่อนข้างมืดทึบ ควรใช้แสงสว่างจากหลอดไฟช่วยให้พรรณไม้สามารถมีชีวิตอยู่ได้
          การให้น้ำ เนื่องจากสภาพภายในมีแสงสว่างน้อย การให้น้ำควรทำด้วยความระมัดระวัง การให้น้ำมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของพรรณไม้ ขึ้นอยู่กับวัสดุปลูก การให้น้ำจนดินปลูกเปียกแฉะอยู่ตลอดเวลาจะทำให้พรรณไม้ตายได้
          การให้ปุ๋ยหรือการป้องกันโรคแมลง จะทำในขณะที่นำพรรณไม้ออกมาพักเมื่อมีการเปลี่ยนพรรณไม้ทุก 15-30 วัน พร้อมกับตัดแต่งทรงต้นให้สวยงาม ตัดใบที่เน่าเสียถูกทำลายทิ้งไป เติมดินลงในกระถางปลูก ดูแลจนต้นสมบูรณ์ แข็งแรง สวยงาม พร้อมที่จะนำไปตกแต่งประดับภายในต่อไป

ข้อผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นกับไม้ประดับภายในอาคาร
     1. การรดน้ำมากเกินไป มักจะเกิดขึ้นได้มาก และตลอดเวลา อาการของพืชจะแสดงออกทางใบ  โดยใบจะเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองและทิ้งใบ   ต่อไปรากจะกุดไม่สามารถเจริญเติบโตได้ นาน ๆ เข้าต้นก็จะตาย
     2. การรดน้ำน้อยเกินไป ผลที่เกิดขึ้นใบจะเหี่ยวลู่ลงและไม่เจริญเติบโต จากนั้นสีของใบพืชจะกลายเป็นสีน้ำตาล ผิวหน้าดินแห้ง แตกระแหง
     3. การเปลี่ยนอุณหภูมิกะทันหัน  จะเกิดกับพรรณไม้ที่ปลูกเลี้ยงไว้ภายนอกอาคารซึ่งได้รับแสงสว่างมาก เมื่อนำมาวางประดับภายในอาคารทันที ใบส่วนโคนต้นจะร่วงหล่น ทะยอยขึ้นไป จนเหลือเพียงส่วนยอด ดังนั้นหากจะนำพรรณไม้ดังกล่าวเข้ามาวางตกแต่งภายในจะต้องนำพรรณไม้นั้นมาวางในโรงเรือนพรางแสงก่อน 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้พรรณไม้ปรับตัวก่อนนำไปใช้
     4. ตำแหน่งที่วางพรรณไม้ หากนำพรรณไม้ไปวางในที่ที่มีแสงแดดจัด ใบไม้ในร่มจะไหม้เกรียม วัสดุปลูกในกระถางจะแห้งโดยเร็ว และถ้าหากวางกระถางไว้ในที่ที่มีความชื้นต่ำ หรืออากาศแห้ง พรรณไม้จะสูญเสียน้ำมาก หากรดน้ำไม่เพียงพอใบจะเหี่ยวและแสดงอาการแห้งริมขอบใบ แล้วลุกลามจนทั่วไป การนำกระถางพรรณไม้ไปวางในที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ สีของใบจะซีด ใบที่ผลิออกมาใหม่จะเล็ก ข้อปล้องยาวยืด และในที่ที่อับลม อากาศไม่มีการถ่ายเท พรรณไม้จะชะงักการเจริญเติบโต และจะทนอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นพรรณไม้ก็จะตาย ส่วนการจัดวางพรรณไม้ในห้องปรับอากาศ ควรระมัดระวังอย่าวางให้ขวางทางลมไม่ว่าจะเป็นลมเย็นหรือลมร้อนจากเครื่องทำความเย็นและอนเดนเซอร์ นอกจากนี้แล้วปัญหาเรื่องควันบุหรี่ก็มีผลต่อการเจริญเติบโตของพรรณไม้ภายในเช่นเดียวกัน
5.7.3 สวนญี่ปุ่น
jp_image018
องค์ประกอบของสวนญี่ปุ่น
          น้ำ เป็นต้นกำเนิดของชีวิต เป็นสิ่งที่ชโลมใจให้เยือกเย็นและมีความสุข กระแสน้ำมีอำนาจที่จะไหลพังทลายสิ่งที่กีดขวางได้ กระแสน้ำไหลทำให้เกิดเสียง เกิดความรู้สึกมีชีวิตชีวา จึงนิยมใช้น้ำเป็นสิ่งประกอบที่สำคัญ การใช้น้ำในสวนญี่ปุ่นก็เพื่อสมมุติว่าเป็น ลำธาร หนอง บึง สระน้ำ ทะเล มหาสมุทร ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ การจัดน้ำไว้ภายในบริเวณสวนอย่างน้อยที่สุดก็มีน้ำในอ่างน้ำ ที่วางไว้ในสวนในที่ราบแบบเขียวชอุ่ม ส่วนสวนในที่ราบพื้นแห้ง ถึงแม้ภายในบริเวณจะไม่มีน้ำจริง ๆ แต่ก็ใช้กรวดหรือ ทรายโรยบนพื้นที่รายเรียบแล้วใช้ไม้ปลายแหลมขีดเส้นโค้งรอบ ๆกลุ่มก้อนหิน ชิดกันบ้างห่างกันบ้างเหมือน ระรอกน้ำหรือเกลี่ยวคลื่น ซึ่งเป็นการใช้น้ำโดยสมมุติ
การใช้น้ำเป็นส่วนประกอบในส่วนญี่ปุ่น
     น้ำตก      เป็นจุดเด่นสำคัญของสวนภูเขา น้ำตก เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งใน การจัดสวนญี่ปุ่น การปลูกต้นไม้ ไม่ควรปลูก ให้หนาทึบทากเกินไป ควรให้มีแสงสว่างลอดลงไปได้บ้างเพื่อให้เห็น ความงามของก้อนหิน และเห็นแสง เมื่อสะท้อนกับน้ำตกในบางจุด
     ลำธาร     เป็นทางน้ำตื้นๆ ไหลผ่าน หุบเขาที่คดเคี้ยวไป-มาลงสู่พื้นที่ที่มีระดับต่ำกว่าเหมือนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ริมตลิ่งและในลำธารมีก้อนหินขนาดใหญ่และเล็กฝังไว้เป็นระยะ ๆ อย่างกลมกลืน เมื่อน้ำไหลผ่านก็จะปะทะกับก้อนหิน ทำให้เกิด ละอองน้ำ กระเซ็น เป็นฝอย และอาจมีเสียงดังซู่ซ่าสร้างบรรยากาศให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น
     สระน้ำ   ลักษณะรูปร่างเป็นแบบธรรมชาติ จะไม่ปรากฏรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยม หรือ วางแสดงให้เห็นว่า เกิดจาก การกระทำของมนุษย์ เลย ขอบสระหรือริมตลิ่งจะฝังก้อนหินใหญ่/เล็กไว้เป็นระยะๆ เพื่อป้องกันตลิ่งพังและเป็นการประดับด้วย การฝังก้อนหินริมตลิ่งนับว่าเป็นศิลปะอีกอย่างหนึ่ง สระน้ำไม่ควรลึกนัก ถ้าขุดลึกเกินไปนอกจากจะทำให้ตลิ่งพังได้แล้ว ยังทำให้ไม่สามารถมองเห็น ก้อนหินก้อนกรวด ที่ก้นสระ น้ำในสระควรใสสะอาด ไม่มีกลิ่นและไม่กระด้าง การไหลของน้ำ ลงสู่สระน้ำอาจไหลตามลำธารซึ่งมีแหล่งน้ำตกเหมือนเกิดขึ้นเองตาม ธรรมชาติ ไม่ไช่ไหลจาก ท่อน้ำหรือก๊อกน้ำ การวางท่อส่งน้ำและท่อน้ำล้นควรซ่อนปลายท่อน้ำไว้ใต้ซอกหิน ถ้าเลี้ยงปลาในสระน้ำ ควรเลือกปลา ที่กินพืชเป็นอาหาร เพื่อจะได้ช่วยกินตะไคร่น้ำ เช่น ปลาไน หรือ ปลาแฟนซีคาร์พ ซึ่งเป็นปลาที่เชื่องและมีสีสันสดใสหลาย สีสดุดตา ข้อควรระวังใน การเลี้ยงปลา ก็คือ อย่าให้อาหารมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้น้ำเน่าได้ แต่ถ้าไม่เลี้ยงปลาก็ควรปลูกพืชน้ำเช่น บัว สันตะวาใบพาย หรือใบข้าว ซึ่งสามารถเลี้ยงขึ้นอยู่ใต้น้ำ (ต้นและใบคล้ายต้นผักกาดสีน้ำตาล) เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสียได้เป็นอย่างดี
     น้ำพุ       ในสวนญี่ปุ่นเป็นน้ำพุที่ไหลริน ๆ เหมือนบ่อน้ำร้อน พุ่งขึ้นเหนือผิวดินเหมือนท่อน้ำรั่ว บางแห่งไหลออกจากซอกหิน โดยซ้อนท่อน้ำไว้ใต้ก้อนหิน ไม่นิยมน้ำพุที่พุ่งขึ้นสูงๆ อย่างสวนแบบประดิษฐ์ โดยทั่วไปมักจะจัดน้ำพุไว้ที่บริเวณใกล้เชิงเขาหรือใกล้ทางเดิน
     บ่อน้ำ      ในการจัดสวนญี่ปุ่นอาจจัดให้มีบ่อน้ำอยู่ในบริเวณสวนด้วย รูปร่างของบ่อน้ำจะเป็นรูปเหลี่ยมหรือรูปกลมก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบตาม ธรรมชาติเหมือนสระน้ำ โดยมีมือหมุนเพื่อกว้านถังน้ำขึ้นมาจากบ่อ แต่ในปัจจุบันมีไว้เพื่อประดับสวน มากกว่าการใช้ประโยชน์
Japan_g31

     หิน      สำหรับประดับภายในสวนจะคัดเลือกรูปทรงและสีเป็นพิเศษ ไม่นิยมหินที่มีรอยสกัด เพราะผิดไปจากธรรมชาติชนิดของหินได้แก่ หินทราย หินแกรนิต หินชนวน หินคลอไรด์ ฯลฯ นอกจากหินก็มีก้อนกรวดขนาดต่าง ๆ กัน ใส่ไว้ในบริเวณ น้ำตก ลำธาร และสระน้ำ นิยมใช้ก้อนหินที่มีสีเข้ม เช่น สีเทา หรือสีดำ ทำให้รู้สึกว่ามืดๆ ทึมๆ เข้ากับสีเขียวของพุ่มไม้เป็นอย่างดี ถ้าไม่จำเป็นพยายามอย่าใช้ก้อนหินที่มีสีขาว เพราะจะขาวโพลงสว่างมากเกินไป ก้อนหินต้องไม่มีร้อยตบแต่งอาจมีรูปร่างแหว่งเว้าหรือเป็นรูไปบ้าง แต่ควรเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมิใช่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
          การวางก้อนหินในสวนไม่นิยมวางเป็นก้อนโดดๆ อย่างน้อยจะต้องมีก้อนหินก้อนอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าวางไว้ข้างๆ เป็นส่วนประกอบ ระยะห่างระหว่างก้อนขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนหิน ถ้าก้อนหินใหญ่มากก็อาจวางห่างกันหน่อย ก้อนหินที่จัดวางไว้ในกลุ่มเดียวกันทุกก้อนควรมีลักษณะผิวและสีเหมือนกัน แต่ละก้อนควรมีขนาดแตกต่างกัน โดยทั่วไปในกลุ่มหนึ่งๆ จะมีก้อนหินเป็นเลขคี่ เช่น 3,5,7 ฯลฯ โดยจัดเป็นรูปสามเหลี่ยมดังกล่าวแล้วในตอนต้น แต่ก็มีบางครั้งที่วางก้อนหินเพียง 2 ก้อน แล้วปลูกต้นไม้อีก 1 ต้น ก็จะทำให้มองดูแล้วเกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมได้เหมือนกัน การประดับก้อนหินในบริเวณสวนควรฝังบางสวนของก้อนหินไว้ในดินโดยฝังส่วนที่เป็นรอยคอดตอนล่างให้จมลง ส่วนล่างของก้อนหินที่ระดับผิวดินจะต้องเป็นส่วนที่มีความกว้างหรือใหญ่กว่าส่วนบนที่อยู่เหนือดินขึ้นไป จะทำให้รู้สึกว่าก้อนหินก้อนนั้นอยู่อย่างแข็งแรงมั่นคง มีลักษณะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
Japan_stone1 REISHO - SEKI (spiritual form) รูปทรงเตี้ย (low vertical) ลักษณะคล้ายดอกบัวตูม ขนาดสูงเป็น 1.5 ของความกว้างที่ฐาน ใช้เป็นจุดสนใจหรือจุดเด่นที่สำคัญในการจัดสวน เป็นสัญญาลักษณ์ของสติปัญญา แสดงถึงจิตรใจที่สงบและมั่นคง
Japan_stone2 TAIZO - SEKI (body rock) รูปทรงเตี้ย (tall vertical) คล้ายคนยืนใช้จัดวางในบริเวณน้ำตก เป็นสัญลักษณ์แห่งความสง่างาม
Japan_stone3 SHINTAI - SEKI (heart rock) ลักษณะแบน (flat) ส่วนกว้างเว้าเล็กน้อยคล้ายรูปหัวใจ ใช้วางหน้าก้อนหินก้อนอื่นเสมอ
Japan_stone4 SHINKEI - SEKI (branching rock)ลักษณะโค้ง (arching) ด้านบนเรียบฐานเล็กกว่าด้านบน ใช้ประกอบเป็นหน้าผา 
Japan_stone5 KIKYAKU - SEKI (reclining rock) ลักษณะเอียง (reclining) ส่วนเว้า วางหงายขึ้น ใช้วางหน้าก้อนหินก้อนอื่นเสมอ

ความสัมพันธ์ระหว่างก้อนหินและน้ำ
          
ก้อนหินกับน้ำต่างกัน แต่มันก็สามารถอยู่ด้วยกันได้ อย่างงดงามถ้อยที่ถ้อยอาศัยกัน ลองนึกดู ถ้ามีก้อนหินเพียงก้อนเดียว ก็คงจะแห้งแล้ง และถ้ามีน้ำอย่างเดียว มันก็คงจะเวิ้งว้าง เช่น ทะเลหรือมหาสมุทร แต่ถ้าหินกับน้ำมารวมกัน ภาพที่เห็นจะคล้ายเป็นความชุ่มชื่นระรื่นในมีทัศนียภาพที่น่าประทับใจ

5.7.4 สวนในที่ราบ
          เป็นสวนที่จัดขึ้นบน พื้นที่ราบ ปราศจากภูเขา/เนินดิน และสระน้ำเป็น เครื่งตกแต่ง สวนนี้เหมาะกับ บริเวณที่มี พื้นที่จำกัด เพราะไม่นิยม ปลูกต้นไม้มาก จะมีบ้างก็น้อยต้น ถ้าเป็นต้นใหญ่ มักจะมีกิ่งก้านโปร่ง ส่วนไม้พุ่มจะตัด แต่เป็นพุ่มกลม ให้กลมกลืนกับก้อนหิน สวนแบบนี้ เดิมทีเดียว นิยมจัดใน บริเวณลานวัด ซึ่งมีกำแพงเป็นฉากหลัง แต่ต่อมาได้มี ผู้นำแบบอย่างไป จัดในบริเวณบ้าน หรือที่พักอาศัย อย่างกว้างขวาง
          สวนในที่ราบ จัดแต่งตามแนวคิด ของพระสงฆ์ใน ศาสนาพุทธ นิกายเซน ซึ่งยึดมั้นใน ความสงบสันโดษ เป็นสวนแบบจินตนาการ หรือเป็น สวนแห่งการสมมุติ เคลือบแฝงด้วย ปรัชญา ผู้จัดจะต้องใช้ จินตนาการใน การวางก้อนหิน ในการปลูกต้นไม้ และในการวาดลวดลาย ลงบนพื้น ทราย หรือกรวด ให้มองแล้ว เหมือนลูกคลื่นหรือ ระลอกน้ำในทะเล หรือในมหาสมุทร สวนในที่ราบ แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
     1. สวนแบบเขียวชอุ่ม 
     2. สวนแบบพื้นที่แห้ง

สวนในที่ราบแบบเขียวชอุ่ม (Evergreen gardens)
          ประกอบด้วยพื้นที่รายเรียบ ปกคลุมด้วยหญ้าหรือมอสสีเขียวขจีสมมุติว่าเป็น "น้ำ" อาจเป็นทะเลหรือมหาสมุทร มีต้นไม้และก้อนหินรวมกันเป็นกลุ่มๆ สมมุติว่าเป็น "เกาะ" ต้นไม้ใหญ่มีน้อยต้น และมักจะมีกิ่งก้านโปร่ง ส่วนพุ่มมัก จะตัดแต่งให้เป็น รูปทรงกลมเพื่อให้กลมกลืนกับก้อนหิน ส่วนประกอบอื่นๆ ได้แก่ ตะเกียงหิน อ่างน้ำ แผ่นทางเดิน มีรั้วลักษณะโปร่งเป็นฉากหลัง เพื่อใช้ประดับและแบ่งขอบเขตของสวน บางแห่งอาจ มีบ่อน้ำซึ่งแต่เดิมมีไว้ใช้ เพื่อประโยชน์ใช้สอย   สวนในที่ราบแบบนี้ นิยมจัดไว้ที่ มุมใดมุมหนึ่งใกล้ๆ เรือนน้ำชาหรือบ้านพักเพื่อใช้น้ำในอ่างล้างมือ ล้างหน้าหรือล้างเท้า ก่อนขึ้นบ้าน แต่ในปัจจุบันมิได้ใช้ประโยชน์เพียงแต่มีใว้เพื่อเป็นการประดับเท่านั้น

สวนในที่ราบแบบแห้ง (Dry landscape gardens)
          สวนชนิดนี้ สร้างตามปรัชญาของนักบวช นิกายเซน ในบริเวณลานวัดเพื่อทำสมาธิ พิจารณาความสงบทางจิต เพ่งพิจารณารูปธรรม(สิ่งที่มีรูป) ของสรรพสิ่งที่มีชิวิต หรือสิ่งที่ไร้วิญญาณมาสู่นามธรรม(สิ่งที่ไม่มีรูป รู้ได้ทางใจ)
          สวนแบบนี้มี พื้นที่ราบเรียบโรยด้วย ทรายหรือกรวด สมมุติว่าเป็น "น้ำ" และมีก้อนหินวางไว้เป็นกลุ่ม ๆ สมมุติว่าเป็น "เกาะ" มีกำแพงหรือบ้าน เป็นฉากหลังกรวดหรือทรายที่ราบเรียบอาจใช้ไม้ปลายแหลมขีดเป็นเส้นโค้งไปมาเหมือนลูกคลื่นหรือระรอกน้ำ ห่างกันบ้าง ชิดกันบ้าง บางเส้นกระทบกับก้อนหิน เมื่อมองดูแล้วจะเกิดความรู้สึกว่ามีเกาะหรือโขดหินโผล่ขึ้นมาจากทะเลหรือมหาสมุทร ข้อสังเกตของสวนแบบนี้คือ ไม่มีต้นไม้เป็นส่วนประกอบ และปราศจากน้ำ ซึ่งแม้แต่สักหยดเดียวก็ไม่มี

 5.7.5 สวนน้ำชา
          การจัดสวนรอบๆ เรือนน้ำชา โดยนำลักษณะเด่นพิเศษของสวนภูเขามาไว้บางส่วน และนำลักษณะเด่นพิเศษของ สวนภูเขามาไว้บางส่วน และนำเอาลักษณะเด่นพิเศษของสวนในที่ราบ แบบเขียวชอุ่ม มาอีกบางส่วนจัด ให้ผสมผสานกัน
          สวนน้ำชา จะมีรั้วด้านนอก เพื่อแสดงขอบเขตทางเข้าสวนจะมีประตูรูปทรงต่าง ๆ แปลกตาบางแห่งประตูมีหลังคา ที่มุงด้วยแผ่นไม้หรือไม้ใผ่หรือหญ้าคา ทางเดินเข้าสู่เรือนน้ำชาจะปูด้วยหินสกัดแบน หรือเขียงไม้ วางห่างกันพอดี กับก้าวเป็นการป้องกันไม่ให้เยียบพื้นดินซึ่งคุมด้วยหญ้าหรือมอสสีเขียวขจี สองข้างทาง จะจัดแต่งเป็นสวนประดับหิน สลับซับซ้อนเป็นระยะๆ
พันธ์ไม้ที่นิยมปลูกประดับ ในสวนน้ำชาประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด
          ไม้ยืนต้น ชนิดที่มีกิ่งก้านและใบหนา ทึบ เช่น พีช เมเปิล โอ๊ค ส่วนชนิดที่มีกิ่งก้านและใบโปร่ง เช่น สนญี่ปุ่น หลิว ไผ่
          ไม้พุ่ม นิยมตัดแต่งเป็นพุ่มกลม หรือรูปไข่เพื่อให้กลมกลืนกับก้อนหิน เช่น อาซาเลีย ชาดัด
          ไม้ดัด ประเภทบอนไชหรือไม้เคราะซึ่งดัดหรือตัดแต่งให้มีลีลาเหมือนไม้ต้นใหญ่แต่ย่อส่วนให้เล็กลง
          ไม้น้ำ มีทั้งปลูกกลางสระน้ำ และบริเวณ ริ่มตลิ่ง เช่น บัง กก ไอริส
          พืชคลุ่มดิน คือพื้นที่ที่มีความสูงไม่เกิน 1 ฟุต ปลูกไว้บริเวณใกล้ก้อนหินหรือตอไม้ เพื่อให้เหมือน หรือใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเพื่อเชื่อมต่อกับสวนหย่อมที่อยู่ข้างเคียง เช่น เฟิร์น ไม้ซุ้มต่างๆ
          การจัดสวนในมุมนี้ นอกจากจะมีลักษณะการจัดวางต้นไม้และวัตถุจนได้สัดส่วนกันแล้ว สิ่งที่เด่นสง่าก็คือ วัตถุต่าง ๆ ที่ใช้ประดับภายในบริเวณสวนล้วนแต่เป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นที่แปลกตาไม่ซ้ำแบบใคร มีการเคลื่อนไหวของน้ำที่หยดและไหลลันกิ่งไม้และใบไม้โอนเอียงไปมาเมื่อต้องกระแสลม มีแสงริบหรี่จากตะเกียงหินในยามค่ำคืน ทำให้บริเวณดังกล่าวนี้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น ส่วนประกอบที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
          ตะเกียงหิน สำหรับใช้ประดับในตอนกลางวันและให้มีแสงสว่างในตอนกลางคืน
          อ่างน้ำ สำหรับใช้เพื่อล้างมือล้างหน้าหรือบ้วนปากก่อนเข้าพิธี (มีกระบวยไม้ไผ่ด้ามยาวสำหรับตักน้ำวางพาดไว้ที่ปากอ่าง)
          หินก้อนใหญ่ สำหรับใช้จับยึด หรือสิ่งของระหว่างล้างมือ ล้างหน้า หรือบ้วนปากและสมมุติว่าเป็น "เกาะ"
          แผ่นทางเดิน วางคดเคียวไปมาห่างกันพอดีกับระยะก้าวเพื่อใช้เป็นแนวทางนำไปสู่อ่างน้ำ เรือนน้ำชา และชมความงามของสวน
          รั้วไม้โปร่ง เป็นรั้วไม้ไผ่หรือกิ่งไม้ประกอบอย่างง่ายๆ ใช้เป็นฉากหลังเพื่อประดับหรือแบ่งขอบเขตของสวน
          ต้นไม้ ใช้ต้นไม้หลายชนิด ต้นไม้ใหญ่ควรมีกิ่งใบโปร่ง เช่น หลิว สนญี่ปุ่น ไผ่ ไม้พุ่ม มักตัดเป็นรูปทรงกลม หรือรูปไข่ ให้กลมกลืนกับก้อนหิน เช่น ชา อาซาเลีย พืชคลุมดิน ปลูกเป็นกลุ่มใหญ่ข้างก้อนหิน เช่น เฟิร์น ไม้ซุ้มต่างๆ ด้านหน้า ใกล้ๆ ตะเกียงหิน จะมีไม้ดัดเคราะหรือบอนไซ ปลูกไว้ กิ่งก้าน และใบมักจะบังตะเกียงหินไว้บ้างบางสวน
          สวนแบบนี้บางแห่งอาจมีน้ำไหลหรือหยดน้ำจากท่อไม้ใผ่ลวอ่างน้ำตลอดเวลาจนมีน้ำล้น บริเวณพื้นข้างอ่างน้ำจึงต้องโรยกรวดเอาไว้ เพื่อให้บริเวณนั้นแลดูสะอาดตา และสมมุติว่าเป็น "ทะเลหรือมหาสมุทร"

5.8 การดูแลรักษาสวน
สวน           การจัดสวน ประดับตกแต่ง อาคารสถานที่ต่างๆ แม้ว่า การออกแบบสวน การจัดสวน จะทําให้ผลที่ออกมาสวยงาม เพียงใดก็ตาม หากสวนนั้น ขาดการเอาใจใส่ดูแลรักษา หรือดูแลรักษาไม่ถูกต้อง ความสวยงาม ดังกล่าวก็จะค่อยๆ สูญเสียไปในที่สุด
          การออกแบบสวน เป็นส่วนหนึ่งที่จะทําให้ การดูแลรักษาสวน ง่ายหรือยากได้ หากเจ้าของสถานที่ ไม่มีเวลาที่จะเอาใจใส่ ดูแลรักษาสวนมากนัก ก็ควรจะจัดสวนให้ดูแลรักษาได้ง่าย ใช้พรรณไม้ ที่ไม่ต้องการการดูแลมาก ทนทานต่อ สภาวะแวดล้อม ได้ดี และค่อนข้างเจริญเติบโตช้า แต่ถ้าหากเจ้าของเป็น คนรักธรรมชาติ มีเวลาให้กับสวนได้มาก มีความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับ พรรณไม้ต่างๆ การออกแบบจัดสวน ก็สามารถเลือกใช้ พรรณไม้แปลกๆ ที่ต้องการการเอาใจใส่ ดูแลรักษามากได้ นอกจากนี้ การออกแบบจัดสวน จะต้องให้สะดวก เหมาะสมกับการเข้าไป ปฏิบัติงาน ในการดูแลรักษา ได้ง่ายด้วย เพราะ การจัดสวน เป็น การจัดวางสิ่งที่มีชีวิต มีการเจริญเติบโต ต้องการการดูแลรักษาอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากปล่อยทิ้ง ให้สวนนั้น เจริญเติบโตไปตาม ธรรมชาติ สักระยะหนึ่ง พรรณไม้ต่างๆ จะเจริญเติบโตมากเกินไป สวนที่เคยสวยงามใน ครั้งแรกก็เริ่มเปลี่ยนแปลง เสื่อมสภาพได้ ดังนั้น การดูแลรักษา จึงเป็น สิ่งสําคัญ ที่จะช่วยให้สวนนั้น คงสภาพ ความสวยงามให้ทนนานที่สุด ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสวนให้คงสภาพนั้น จะเป็นจํานวนเงิน ที่ค่อนข้างมากกว่า การออกแบบจัดสวน ในปัจจุบัน อาชีพ การดูแลรักษาสวน เป็นอีกอาชีพหนึ่ง ที่สามารถ ทํารายได้ให้กับผู้ประกอบธุรกิจด้านนี้ค่อนข้างมาก

lawn

การดูแลรักษาสวน (maintenance) เพื่อให้สวน สวยงาม คงสภาพเดิมนานที่สุด มีวิธีที่จะต้องปฏิบัติดังนี้
     - การตัดแต่งพรรณไม้ (pruning)
     - การดูแลบํารุงรักษาสนามหญ้า (lawn maintenance)
     - การให้ปุ๋ย (fertilization)
     - การป้องกันกําจัดศัตรูพืช (pest control)
     - การปรับปรุงสวน (gardening improvement)

5.8.1 การตัดแต่งพรรณไม้
          การตัดแต่งพรรณไม้ เป็นการตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก วัตถุประสงค์ของการตัดแต่งก็เพื่อจะให้ไม้นั้นๆ มีรูปทรงตามที่ต้องการ การตัดแต่งเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับไม้ต้น (tree) และไม้พุ่ม (shrub)
          ไม้ต้นและไม้พุ่ม ที่นํามาจัดสวนจะมีการเจริญเติบโต จนรูปทรงเปลี่ยนแปลงไป การตัดแต่งจะช่วยให้ไม้นั้นๆ คงสภาพรูปทรงที่เราต้องการได้
การตัดแต่งที่ถือปฏิบัติเริ่มแรกจะเป็นการตัดแต่ง
          - กิ่งที่แห้งตาย
          - กิ่งที่อ่อนแอ ฉีกขาด
          - กิ่งที่เป็นโรค
          - กิ่งที่เจริญผิดปกติ
          - กิ่งที่แทงเข้าภายในพุ่มต้น
          การตัดแต่งต่างๆ เหล่านี้ จะทําให้ทรงพุ่มโปร่ง แสงสว่าง ลม จะได้พัดผ่านเข้าไปในทรงพุ่มได้สะดวก ในกรณีของไม้ยืนต้น การตัดแต่งจะช่วยควบคุมการเจริญเติบโต ช่วยเพิ่มผลผลิต ส่วนไม้พุ่มจะทําให้รูปทรงของพุ่มต้นสมดุล การตัดแต่งไม้พุ่ม จะเริ่มตั้งแต่การเด็ดยอด (pinching) เพื่อให้ไม้พุ่มแตกตาข้าง ทําให้การเจริญเติบโตทางด้านยอดลดลง หลังจากนั้นอาจจะมีการขลิบ (trimming) แต่ง ลิดใบและยอดที่เจริญแทงออกมาจากทรงพุ่ม ในกรณีที่ทรงพุ่มแน่นเกินไปก็จะตัดแต่งกิ่งแก่ออกบ้าง โดยตัดให้ชิดพื้นดิน ส่วนไม้พุ่มที่แทงหน่อออกมาจะต้องตัดออก โดยตัดให้ลึกลงไปใต้ระดับดิน
          ส่วนไม้พุ่มที่ต้องการให้มีการเจริญเติบโตใหม่ (rejuvenate) เนื่องจากมีอายุมากแล้ว ให้ตัดส่วนของไม้นั้น เหลือเพียงหนึ่งในสามของความสูงเดิม ดูแลรักษาให้เจริญเติบโตใหม่ การตัดแต่งไม้พุ่มให้เล็กลง จะช่วยให้มีการแตกกิ่งยอดใหม่ ทําให้ไม้พุ่มนั้นมีดอกมากขึ้น   การตัดแต่งพรรณไม้ แต่ละครั้ง เครื่องมือที่ใช้จะต้อง เหมาะสมกับงานนั้นๆ เครื่องมือจะต้องคมและใช้ให้ถูกต้อง นอกจากนี้หากรอยแผลที่ถูกตัดแต่งมีขนาดใหญ่จะต้องใช้ยาทาแผล เพื่อป้องกันการเข้าทําลายของเชื้อโรค

เครื่องมือที่ใช้ในการตัดแต่งกิ่ง
          - กรรไกรตัดแต่งกิ่ง ซึ่งมีทั้งชนิดที่ถือมือเดียวและชนิดที่ต้องใช้สองมือช่วย
          - เลื่อยตัดแต่งกิ่ง
          สนามหญ้า เป็นองค์ประกอบที่สําคัญของการจัดสวน ทําให้สวนสวยงาม ช่วยให้อาคารสถานที่ดูเด่นเป็นสง่า และให้ความ เป็นระเบียบแก่สถานที่นั้นๆการดูแล สนามหญ้า เริ่มตั้งแต่ปลูกจนกระทั่งตั้งตัวและเจริญเติบโต มีวิธีการดังต่อไปนี้
          การให้นํ้า การขาดนํ้าในช่วงแรกจะทําให้หญ้าสนามไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ดังนั้นในระหว่างช่วงสัปดาห์แรก ของ การปลูกหญ้า จะต้องให้นํ้าวันละหลายๆ ครั้ง โดยที่จะต้องคอยดูแลไม่ให้บริเวณนั้นแห้ง ในช่วงสัปดาห์ที่สอง การให้นํ้าจะลดลงเหลือ เพียงวันละครั้ง แต่ทั้งนี้จะต้องคอยสังเกตว่าแต่ละวันนั้นจะต้องให้นํ้าเพิ่ม หรือ ไม่ ในสัปดาห์ต่อๆ ไป การให้นํ้าแต่ละครั้ง จะต้องให้ปริมาณนํ้าซึมลึกลงไปในดินมากขึ้น เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของราก

5.8.2 การดูแลบํารุงรักษา สนามหญ้า
          สนามหญ้า ที่มีการเจริญเติบโตของหญ้าสนามดีแล้ว ความถี่ของการให้นํ้า จะลดน้อยลง แต่ปริมาณนํ้า ที่ให้ต่อครั้ง จะมากขึ้น เพื่อให้รากหยั่งลึกลงไปในดินดีขึ้น ลดปัญหาการสะสมเกลือจากใต้ดิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต
          การใส่ปุ๋ย นอกจากการให้นํ้าแก่ สนามหญ้า แล้ว การใส่ปุ๋ยให้แก่หญ้าสนามก็เป็นสิ่งจําเป็น สนามหญ้า ที่เริ่มมี การเปลี่ยนสี เป็นสีเหลือง หากตรวจสอบแล้วไม่ใช้อาการที่เกิดจากสภาพของดิน หรือ โรครบกวน ก็แสดงว่า สนามหญ้า เริ่มขาดธาตุอาหาร จําเป็นจะต้องมีการใส่ปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยที่ใส่ให้กับ สนามหญ้า มีทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอนินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์ จะเป็นปุ๋ยที่ใช้ ครั้งแรกในขณะเตรียมดินก่อนปลูกหญ้า ส่วน ปุ๋ยอนินทรีย์ หรือ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ จะใช้เมื่อต้องการให้ หญ้าสนาม มีการเจริญเติบโต
          การใส่ปุ๋ยให้แก่ สนามหญ้า หญ้าสนามเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ซึ่งต้องการอาหารและสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่พอเหมาะ การเลือกใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง ในปริมาณที่พอเหมาะและให้ในเวลาที่ต้องการ จะทําให้ผลที่ออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด การใส่ปุ๋ยให้กับ สนามหญ้า จะให้ปุ๋ยสูตรที่มี N-P-K เพราะไนโตรเจน (N) จะช่วยในการเจริญเติบโตของกิ่งก้านใบ ช่วยให้ใบมีสีเขียว ส่วนฟอสฟอรัส (P) จะช่วยในการเจริญเติบโตของราก ทําให้เกิดการแตกรากใหม่ของหญ้า (rhizome) ส่งผลให้เกิดต้นหญ้าใหม่ สําหรับโปแตสเซียม (K) ช่วยให้การเจริญเติบโตโดยทั่วๆ ไปดีขึ้น ช่วยให้หญ้าสนามมีควาทนทาน แข็งแรง ทนทานต่อสภาวะแห้งแล้ง หรือ ทนทานต่อโรคได้
          ปุ๋ยที่ให้กับ สนามหญ้า จะให้ปุ๋ยสูตรใดนั้น ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา การเจริญเติบโต โดยทั่วๆไป ปุ๋ยที่ใช้จะมีธาตุ ไนโตรเจน สูงกว่าธาตุอื่นๆ เช่น อาจให้ปุ๋ยสูตร 30-10-20 เป็นต้น แต่ในช่วงฤดูร้อน ปุ๋ยที่ให้ควรมีธาตุ ฟอสฟอรัส สูงขึ้น และในต่างประเทศช่วงฤดูหนาว ปุ๋ยที่ให้แก่ สนาม หญ้า จะมีธาตุ โปแตสเซียม สูงขึ้น การให้ปุ๋ยแก่ สนามหญ้า จะให้เดือนละครั้ง ภายหลังการใส่ปุ๋ยจะต้องรดนํ้าตามทันทีไม่ให้ปุ๋ยตกค้างอยู่บนใบหญ้า การควบคุมโรค แมลงและวัชพืช หญ้าสนามก็เหมือนพืชอื่นๆ ย่อมมีศัตรูต่างๆ รบกวน ศัตรูชนิดแรกคือวัชพืช พบมากใน สนามหญ้า ที่มีการเตรียมพื้นที่ไม่ถูกต้อง วัชพืชที่ขึ้นใน สนามหญ้า มีทั้งชนิดใบแคบ เช่น หญ้าตีนตุ๊กแก หญ้าตีนกา แห้วหมู ฯลฯ และชนิดใบกว้าง เช่นผักโขม บานไม่รู้โรยป่า ไมยราพ ฯลฯ จะต้องคอยเอาใจใส่ขุดออก ทันทีที่พบเห็น หากทิ้งไว้จะทําให้มีการเจริญเติบโตเบียดบังหญ้าสนาม ทําให้ความสวยงามของ สนามหญ้า ลดลง
          สําหรับโรคและแมลง โดยทั่วๆ ไปจะเกิดน้อยมาก โรคที่พบใน สนามหญ้า ได้แก่ โรคราสนิม โรคใบขีดโปร่งแสง ส่วนแมลงที่รบกวนหญ้าสนาม ได้แก่ หนอนด้วง หนอนต่างๆ รวมทั้งมดคันไฟ การใช้สารเคมีกําจัด โรคแมลงต่างๆ จะต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง การตัดหญ้า สนามหญ้า ที่สวยงามต้องการการตัดแต่งเหมือนพืชอื่นๆ สนามหญ้า ใหม่จะทําการตัดหญ้าครั้งแรก เมื่อหญ้าสนามมีความสูงประมาณ 2 นิ้ว การตัดหญ้าครั้งแรกนี้ จะต้องระมัดระวัง ไม่ตัดออกมากเกินไป เครื่องมือที่ใช้จะต้องไม่กระทบกระเทือนราก ขณะที่ตัด สนามหญ้า จะต้องแห้ง สนามหญ้า ที่มีการเจริญเติบโตสมบูรณ์แล้ว ควรตัดหญ้าประมาณ 15 วันต่อครั้ง แต่ในช่วงฤด ูที่มีการเจริญเติบโตมาก อาจมี การตัดหญ้า สัปดาห์ละครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ การเจริญเติบโต ของ หญ้าสนาม นั้นๆ การปล่อยให้ หญ้าสนาม มีการเจริญเติบโต จนกระทั่งมีดอกแล้วจึงตัด จะทําให้การเจริญเติบโตของส่วนที่เหลือ ภายหลัง การตัดค่อนข้างช้า สนามหญ้า จะมองดูเหลือง ซึ่งจะ ใช้เวลาบํารุงรักษา ค่อนข้างนาน สนามหญ้า จึงจะเขียวสดดังเดิม วิธีการตัดหญ้า การตัดหญ้าที่ตํ่าเกินไป เป็นวิธีที่ผิด การตัดหญ้าแต่ละครั้งจะตัดออกไม่เกิน 1 ใน 3 ของควาามยาวก่อนตัด โดยทั่วๆไป จะตัดให้เหลือ ความสูงประมาณ หนึ่งนิ้วครึ่งถึง สองนิ้วครึ่ง การเลือกใช้เครื่องมือ ใน การตัดหญ้า จะต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับงาน สนามหญ้า ที่มีขนาดเล็ก อาจจะเลือกใช้กรรไกรตัดหญ้า หรือ เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายหลัง ส่วนพื้นที่ขนาดใหญ่ อาจจะเลือกใช้ เครื่องตัดหญ้าแบบเข็น ที่ใช้ไฟฟ้า หรือ นํ้ามัน สําหรับ สนามหญ้า ขนาดใหญ่ที่ ไม่ต้องการ ความประณีตมากนัก ก็อาจจะ เลือกใช้รถตัดหญ้าแบบเข็น มีใบพัด ทั้งนี้ เครื่องมือทุกชนิดใบมีดจะต้องคม และไม่ทําการตัดหญ้า ในขณะที่ สนามหญ้า นั้นเปียกชื้น ภายหลังตัดหญ้า เรียบร้อยแล้ว จะต้องทําความสะอาด และ ตรวจสอบ ความเรียบร้อยของเครื่องมือก่อนเก็บไว้ใช้งานคราวต่อไป

5.8.3 การให้ปุ๋ย
          พรรณไม้ต่างๆ เป็นสิ่งมีชีวิตต้องการปัจจัยในการเจริญเติบโตเหมือนสิ่งมี ชีวิตอื่นๆปัจจัยหนึ่งซึ่งสําคัญที่ช่วยในการเจริญเติบโต คือ อาหารธาตุ การให้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารตามที่พืชต้องการจะช่วยให้พืชนั้นๆ มีการเจริญเติบโตตามปกติ ธาตุอาหารที่พืชต้องการมีอยู่ 16 ธาตุแบ่งออกเป็น
               ธาตุอาหารหลัก (macro elements) ซึ่งได้แก่ C H O N P K
               ธาตุอาหารรอง (micro elements) ได้แก่ Ca Mg S
               ธาตุอาหารประกอบ (trace elements) ได้แก่ Fe Mn Cu Zn Mo B Cl
          ธาตุอาหารต่างๆ เหล่านี้พืชจะต้องการในปริมาณที่ต่างๆ กัน ธาตุอาหารหลักพืชจะต้องการในปริมาณค่อนข้างมาก ส่วนธาตุอาหารประกอบพืชจะต้องการในปริมาณที่น้อยมากการให้ธาตุอาหารต่างๆ เหล่านี้ จะให้ในรูปของปุ๋ยอินทรีย์ (organic fertilizer) และปุ๋ยอนินทรีย์ (inorganic fertilizer) ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ได้จากสิ่งมีชีวิต เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยเทศบาล ซากพืชซากสัตว์ เป็นต้น ปุ๋ยประเภทนี้จะสลายตัวค่อนข้างช้า ธาตุอาหารมีน้อย การใช้ปุ๋ยเหล่านี้ มักจะเป็นการใช้เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของดินปุ๋ยอนินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่สังเคราะห์ขึ้น เรียกกันทั่วๆ ไปว่าปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือ ปุ๋ยเคมี เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารต่างๆ โดยจะเน้นที่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และ โปแตสเซียม (K) เป็นหลัก ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ นี้มีขายทั่วไปในท้องตลาด มีสูตรอาหารต่างๆ กัน ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ที่เลือกใช้ใน การบํารุงรักษาพรรณไม้ ส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ ปุ๋ยสูตร 30-10-20 เป็นต้น
          การให้ปุ๋ยกับ พรรณไม้ต่างๆ ควรจะเลือกใช้ให้ถูกต้องกับชนิดของไม้นั้น รวมทั้งให้เหมาะกับระยะของการเจริญเติบโต และใส่ให้ถูกเวลา ซึ่งเวลาที่เหมาะสมใน การใส่ปุ๋ย ควรจะเป็นเวลาเช้าใน การดูแลรักษาสวน อาจจะมีการใส่ปุ๋ย ทุกสัปดาห์โดยแต่ละ สัปดาห์จะให้ในปริมาณที่ ไม่เข้มข้นมากนัก ใน ไม้กระถาง อาจจะใช้ปุ๋ยที่ สลายตัวช้า ให้ปุ๋ยนั้น ค่อยๆ สลายตัวเป็นประโยชน์ต่อพืช โดยไม่ต้อง ใส่ปุ๋ยบ่อยครั้งก็ได้

5.8.4 การป้องกันกําจัดศัตรูพืช
          การบํารุงดูแลรักษาสวน นอกจากการให้นํ้า ให้ปุ๋ย ดูแล สนามหญ้า รวมทั้งตัดแต่งพรรณไม้ ให้อยู่ในสภาพ ที่ต้องการแล้ว การป้องกันกําจัดศัตรูพืชเป็นสิ่งสําคัญเช่นกัน เพราะการเจริญเติบโตของพืชในธรรมชาติจะมีศัตรูต่างๆ คอยรบกวน ศัตรูเหล่านั้นอาจจะเป็นโรค หรือ แมลงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ อาจจะเกิดได้ทั้งโรคและแมลงพร้อมๆ กันโรคที่พบ อาจจะเกิดจาก เชื้อรา แบคทีเรีย วิสา หรือ ไส้เดือนฝอยแมลง อาจจะเป็นแมลงปากกัด เช่น ด้วง หนอนต่างๆ หรือ แมลงปากดูด เช่น เพลี้ยไฟเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน ไรแดง เป็นต้น
          การฉีดพ่นสารเคมี เพื่อช่วยป้องกันโรคและแมลง ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะสวนที่จัดไว้จะอยู่ใน บริเวณ ที่ผู้คน จะต้องมา ใช้ประโยชน์ ควรเลือกใช้ชนิดที่มีอันตรายค่อนข้างน้อยใช้ให้ถูกต้อง โดยจะต้องศึกษา วิธีการใช้ ให้ละเอียดก่อนนํามาใช้ และใช้ด้วยความระมัดระวังภายหลังการฉีดพ่นสารเคมีผู้ฉีดจะต้องล้างมือ เปลี่ยนเสื้อผ้า ชําระร่างกาย ให้สะอาดก่อน ที่จะไปทํากิจกรรมอื่นๆ

5.8.5 การปรับปรุงสวน
          สถานที่ต่างๆ ที่มีการจัดสวนอย่างสวยงามและใช้ประโยชน์ได้ตามความต้องการนั้น แม้ว่าจะมีการดูแลรักษาเอาใจใส่ดีเพียงใดก็ตาม ช่วงเวลาที่ผ่านไปนานเข้า ความสวยงามต่างๆก็จะลดลง ตามกฎของธรรมชาติ เพราะองค์ประกอบต่างๆ ที่ใช้ในการจัดสวน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตเช่น พรรณไม้ต่างๆ หรือสิ่งไม่มีชีวิต เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่งในสวน ทุกสิ่งจะต้องมีวันเสื่อมทรุดโทรม และตายไป ดังนั้นจําเป็น ที่จะต้องมี ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แก้ไข ให้สภาพของสวนสวยงามดังเดิม การดูแลบํารุงรักษาสวน ทั้งการให้นํ้า ใส่ปุ๋ย ป้องกันศัตรูพืช รวมทั้งการตัดแต่งจะช่วยให้พรรณพืชต่างๆ เจริญเติบโตสวยงาม แม้ว่า การตัดแต่ง จะช่วยให้ พรรณไม้ เจริญเติบโตใหม่ได้ แต่นานวันเข้า รูปทรงของพรรณไม้นั้นๆ อาจจะเปลี่ยนแปลง จนไม่สามารถ ทําให้ได้รูปทรงที่ ต้องการ หรือ พรรณไม้ บางชนิดถูก โรคแมลงรบกวนจนตายไป การปรับปรุงสวนจะเริ่มตั้งแต่
          1. ไม้กระถาง หากพบว่าดินปลูกในกระถางเหลือน้อยลง จําเป็นจะต้องเติมดินลงในกระถางหรือไม้กระถางนั้น เจริญเติบโตเกินกว่า จะอยู่ในกระถางเดิมได้ ก็ควรจะ เปลี่ยนกระถาง หรือ ย้ายไม้นั้น ลงปลูกในดิน หรือทําการเปลี่ยน ไม้กระถางใหม่
          2. พรรณไม้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือไม้เถาเลื้อย เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีพรรณไม้ต่างๆ เหล่านี้ อาจจะเจริญเติบโตจนเบียดกัน จําเป็นจะต้องแยกออกบางต้นหรือตัดแต่งให้ได้ขนาดที่ต้องการ หากจุดใด พรรณไม้ตายไปก็ควรจะรีบหาพรรณไม้นั้นๆ มาปลูกทด แทน หรือจะเปลี่ยนแปลงเป็นไม้ชนิดอื่นก็อาจทําได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณา ความเหมาะสมของพรรณไม้ นั้นๆ ด้วย
          3. สนามหญ้า การจัดสวนครั้งแรก ในขณะที่พรรณไม้ต่างๆ ยังมีขนาดเล็กอยู่ การใช้หญ้าสนาม มักจะเลือกใช้ หญ้านวลน้อย ซึ่งทนแดดและ เจริญเติบโตดี ทนต่อการเหยียบยํ่า ปูบริเวณสนามทั้งหมด แต่เมื่อไม้ต้น ที่นํามาใช้ จัดสวนเจริญเติบโตขึ้น ก็จะมีร่มเงาตามจุดนั้นๆ หญ้านวลน้อย ก็จะค่อยๆ ตายไปในที่สุด ดังนั้น บริเวณร่มเงา ไม้ใหญ่นี้ หากจะทําเป็น สนามหญ้า เหมือนเดิม ก็จะต้องใช้หญ้ามาเลเซียซึ่งทนร่มได้มาปูทดแทน หรือ จะรื้อหญ้า ออกแล้วใช้อิฐปูเป็นบริเวณลานพักผ่อนก็อาจทําได้
          4. องค์ประกอบอื่นๆ เช่น รั้ว ทางเท้า เก้าอี้สนาม ฯลฯ จะต้องตรวจสอบ หากพบว่าชํารุด เสียหาย ก็ควรจะทําการซ่อมแซม ปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ หากเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ สมควรจะเปลี่ยนของใหม่มาใช้แทนตามจุดนั้นๆ
          นอกจากการปรับปรุงสวน ตามที่กล่าวแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพสวนทั้งหมดก็อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยที่เจ้าของ สถานที่ อาจจะเบื่อหน่ายความจําเจ หรือ มีความจําเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับ สภาวะนั้นๆ เช่น การจัดสวนครั้งแรก เริ่มเมื่อมีครอบครัวใหม่ๆ ต่อมาเมื่อมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นจําเป็นจะต้องมีสถานที่สําหรับเด็ก อาจจะต้องการบ่อทราย ชิงช้า บ้านตุ๊กตา
          ต่อมาสมาชิกในบ้านเติบโตขึ้น เป็นหนุ่มสาว มีเพื่อนฝูงมาบ้าน สถานที่ต่างๆ ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงจาก บ่อทราย กลายเป็นเตาย่าง ลานพักผ่อน บ้านตุ๊กตาก็อาจจะเป็นที่เลี้ยงสัตว์ จนท้ายที่สุด เมื่อสมาชิก เริ่มแยกย้ายไป มีครอบครัวใหม่สภาพสวนก็จะเปลี่ยนเป็น สวนธรรมชาติ มีพรรณไม้ที่ต้องการการเอาใจใส่ดูแลไม่มากนัก รวมทั้งอาจจะมี แปลงพืชผักสวนครัว ให้เจ้าของสถานที่ได้ใช้ประโยชน์และใช้ ออกกําลังกายใน ช่วงปลายของชีวิต

5.9 ขั้นตอนมาตราฐานของการออกแบบและ ตกแต่งภายใน โดยปกติ มีดังต่อไปนี้
1. ขั้นการให้คำปรึกษา และขอข้อมูล
          สำหรับการออกแบบของโครงการจากเจ้าของโครงการ เพื่อทำการสรุป ความต้องการขั้นต้น ของลูกค้า หรือ เจ้าของโครงการ โดยในขั้นตอนนี้ อาจจะมีการพบ ปะพูดคุย ระหว่าง นักออกแบบและลูกค้ามากกว่า 1 ครั้งเพื่อ ปรับความเข้าใจต่างๆ ให้ตรงกัน และบ่อยครั้งที่ลูกค้าใช้ การพูดคุยในขั้นตอนนี้ เพื่อพิจารณาตัว นักออกแบบ ตกแต่งภายใน ว่าสามารถ ทำงานด้วยกัน ได้หรือไม่น่าเชื่อถือเพียงใด และมีความสามารถ หรือ รูปแบบของงาน ตรงกับความต้องการของลูกค้าหรือไม่ และในทำนองเดียวกันนักออกแบบ ตกแต่งภายใน ส่วนใหญ่ก็จะใช้ขั้นตอนนี้ ในการพิจารณาว่าจะรับงานของลูกค้ารายนั้นหรือไม่ ด้วยเช่นกันในขั้นตอนนี้ นักออกแบบ ตกแต่งภายใน บางท่านอาจจะคิดค่าบริการบ้าง (แต่ไม่มากนัก) แต่โดยส่วนใหญ่มัก จะไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใดดังนั้นลูกค้า ควรจะสอบถามก่อนว่าจะต้องเสีย ค่าใช้จ่ายในการขอคำปรึกษานี้หรือไม่ เพื่อจะได้ไม่ ต้องมีปัญหากันภายหลัง
2. ขั้นการวางผัง และนำเสนอแนวความคิดในการออกแบบขั้นต้น (Lay-out and Conceptual Design)
          ขั้นตอนนี้ นักออกแบบ ตกแต่งภายใน จะทำการวาง แนวความคิด ในการออกแบบคร่าวๆให้กับลูกค้าทำการ พิจารณา รูปแบบการออกแบบ (Style) รวมทั้งแบ่งพื้นที่ ใช้สอยคร่าวๆ (Zoning) หรือวางผังพื้นที่ใช้สอย อย่างง่ายๆ (Lay-out Plan) เพื่อให้ลูกค้าทำการพิจารณา การแบ่งพื้นที่ทั้งหมดว่าตรงกับความต้องการใช้งานจริง ของลูกค้าหรือไม่ ทั้งนี้ นักออกแบบ ตกแต่งภายใน ส่วนใหญ่ มักจะนำเอาหนังสือหรือนิตยสารเกี่ยวกับการ ตกแต่งภายใน ต่างๆ มากนำเสนอให้กับลูกค้า เพื่อช่วยในการตัดสินใจอีกด้วย ดังนั้น ในขั้นตอนนี้ลูกค้า จะได้ทราบแนวทาง และรูปแบบ คร่าวๆ ของงานออกแบบ ที่จะได้รับการพัฒนาในขั้นตอนต่อไป
3. ขั้นการพัฒนาแบบร่างขั้นต้น
          ขั้นตอนนี้ นักออกแบบ ตกแต่งภายใน จะนำแนวความคิดใน การออกแบบ และผังพื้นที่ในการใช้สอย ที่ได้ผ่าน การอนุมัติ จากลูกค้าแล้ว มาพัฒนาเป็น แบบร่างอย่างง่ายๆ เพื่อให้ ลูกค้าเกิด จินตภาพ ได้ว่างานออกแบบทั้งหมด จะออกมาเป็นอย่างไร โดยนักออกแบบ จะทำการนำเสนอเป็นภาพ Sketch หรือ Perspective หรือ Model ก็ได้
          เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้ว ลูกค้าจะเริ่มเข้าใจ และมองเห็น หน้าตาของงานออกแบบ ที่นักออกแบบ จะพัฒนาใน ขั้นตอนต่อไป และลูกค้า อาจจะขอปรับแบบได้ แต่ไม่ควรจะแก้ไขแบบจนผิดไปจาก แนวความคิดใน การออกแบบ และผังที่ได้วางเอาไว้ เพราะจะทำให้นักออกแบบ ต้องกลับไป เริ่มต้นใหม่ทั้งหมดนอกจากนี้ บริษัทออกแบบหลายแห่ง มักจะกำหนดจำนวนครั้งใน การขอแก้ไขแบบในขั้นตอนนี้ไว้ไม่เกิน 2 ครั้ง เพื่อให้ งานออกแบบ ไม่ยืดเยื้อ และแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด
4. ขั้นการพัฒนาแบบร่างขั้นสุดท้าย
          ในขั้นตอนนี้ นักออกแบบ ตกแต่งภายใน จะทำการพัฒนาแบบ ต่อจากแบบร่างขั้นต้น โดยนักออกแบบ มักจะนำเสนอเป็น ภาพ Perspective ที่เสมือนจริงหรือ Model ที่ ใกล้เคียงกับงานออกแบบ ที่จะออกมามากที่สุด เพื่อให้ลูกค้าสามารถ จินตนาการ งานทั้งหมดได้ชัดเจน และในขั้นตอนนี้ลูกค้า อาจจะขอแก้ไขแบบร่าง ในส่วน รายละเอียดได้บ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากแบบในขั้นตอนนี้ มักจะได้รับ การอนุมัติ จากแบบร่างขั้นต้น เกือบทั้งหมดแล้ว อย่างไรก็ดี หากลูกค้าต้องการทำการแก้ไขส่วนหลักๆ ในแบบร่างในขั้นตอนนี้ นักออกแบบ หรือ บริษัทออกแบบ ตกแต่งภายใน มักจะขอคิดค่าบริการเพิ่มเติม เนื่องจากเป็น การเพิ่มงาน หรือจัดว่าเป็น งานออกแบบใหม่เลยทีเดียว
5. ขั้นการกำหนดวัสดุ ตกแต่งภายในทั้งหมด
          นักออกแบบ ตกแต่งภายใน จะทำการ กำหนดวัสดุตกแต่งทั้งหมดโดยอ้างอิงกับแบบร่างขั้นสุดท้ายที่ได้ รับการอนุมัติแล้ว ให้ลูกค้า ทำการพิจารณาทั้งนี้ มักจัดทำเป็นแผ่นกำหนดวัสดุตกแต่ง หรือ Material Board ให้ลูกค้าทำการพิจารณา เปรียบเทียบ ประกอบ แบบร่าง ในขั้นสุดท้ายก่อนที่จะดำเนิน การเขียนแบบรายละเอียดในขั้นตอนสุดท้าย
6. ขั้นการเขียนแบบรายละเอียด
          นักออกแบบจะทำการเขียนแบบรายละเอียดให้ตรง ตามแบบร่างขั้นสุดท้ายและ Material Board ที่ได้รับการรับรองแบบ จาก ลูกค้าแล้ว โดยปกติแล้ว นักออกแบบจะใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน ในการ ทำงานในขั้นตอนนี้ หากลูกค้ามีความประสงค์จะขอแก้ไข รายละเอียดในแบบ ก็จะสามารถ แจ้งแก่นักออกแบบ ได้ ภายหลังจากที่ได้รับ แบบรายละเอียด มาอ่านแล้ว โดยปกตินักออกแบบ มักจะพิมพ์แบบรายละเอียดให้ลูกค้าทำการอ่านแบบ และพิจารณารายละเอียด ทั้งหมด ก่อนที่จะพิมพ์แบบจริง

Free Web Hosting